สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สิ่งที่เต๋อ ฉันทวิชช์ เรียนรู้จากมหา’ลัย

 
UploadImage

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
รหัสนิสิต : 4445022828
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี คือนักแสดงมากความสามารถของค่าย GDH 559 ในช่วงเรียนมหา'ลัย เต๋อเป็นนิสิตคณะนิเทศ จุฬาฯ เอกภาพยนตร์ ที่มีโอกาสก้าวเข้าไปเป็นนักแสดงของละครเวทีคณะทุกปี จนเรียกได้ว่ากิจกรรมละครเวทีเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของชีวิตมหา'ลัย ของเขา และนี่คือสิ่งที่เต๋อได้เรียนรู้จากละครเวที-วิชาที่เขาเต็มใจเลือกเอง

ฉาก 1
“เราเข้าคณะนิเทศฯ เพราะเราอยากทำภาพยนตร์ แต่นอกเหนือจากการเรียนแล้ว ที่คณะยังมีกิจกรรมเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือละครเวทีที่มีปีละครั้ง ซึ่งการทำละครเวทีมันก็จะมีแผนกต่างๆ ให้น้องๆ อย่างเราเข้าไปเลือกทำ เช่น ฝ่ายฉาก ฝ่ายมัลติมิเดีย ฝ่ายซาวนด์ ฝ่ายคอสตูม แล้วก็มีทีมฝ่ายเขียนบท กำกับ และนักแสดง ซึ่งเราก็ตั้งใจจะอยู่ฝ่ายมัลติมีเดีย ทำ Visual ในฉาก ถ่ายวิดีโอโปรโมตละคร ทำเอ็มวี ฯลฯ ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับการทำหนัง”

ฉาก 2
“แต่ด้วยความที่คณะนิเทศฯ จะมีผู้ชายน้อยมาก ปีๆ หนึ่งก็จะมีแค่ 10 - 20 คน เป็นตุ๊ดก็เกือบครึ่งแล้ว ทำให้ผู้ชายทั้งหมดในคณะต้องเข้าไปแคสติ้งตัวละครที่เป็นผู้ชายในละครเวทีด้วย ทั้งบทเล็ก-ใหญ่ พอเข้าไปแคสต์แล้ว ปรากฎว่าเราได้เล่นเลยตั้งแต่อยู่ปี 1 ละครเวทีเรื่องนั้นคือ อีสป เวตาล นิทานฮัดช่า เล่นเป็นยามที่พูดแค่คำว่า ‘เฮ้’ และก็ออกมาแค่ 3 - 4 ฉาก แต่เวลาซ้อมก็จะซ้อมเท่าๆ กับทุกคน

“พอขึ้นปี 2 เป็นเรื่อง นิทราวาณิชย์ เราก็ตั้งใจว่าอยากจะกลับไปทำฝ่ายมัลติมีเดียแล้ว แต่ก็เข้าข่ายแบบเดิมคือ ผู้ชายที่คณะมันมีน้อย เราก็ได้เข้าไปแคสต์อีก แล้วก็ได้เล่นอีก รุ่นพี่ก็ให้เหตุผลว่าเรามีพื้นฐานการแสดงมาจากการเวิร์กช็อปครั้งที่แล้วมาแล้ว เหมือนเรามีประสบการณ์แล้วก็ได้เข้าไปเล่นละครเวทีอีกครั้ง ไปซ้อม ไปเวิร์กช็อปเหมือนเดิม แต่คราวนี้เล่นเป็นคนแก่ มีบทพูดเยอะขึ้นหน่อย พออยู่ปี 3 เราก็ชัดเจนว่าจะไปทำมัลติมีเดียแน่ๆ ผมก็เลยพูดกวนๆ ทีมแคสต์ฯ ไปว่า ‘คราวนี้ถ้าผมไม่ได้เล่นเป็นพระเอก ผมไม่เล่นแล้วนะ’ ปรากฎว่าเขาให้แคสต์บทพระเอกเลย แล้วเราได้เล่นด้วย เป็นเรื่อง ลำซิ่งซิงเกอร์ และก็ลามมาถึงปี 4 คือเล่นเป็นพระเอกเรื่อง ซานเทียน หอนางฟ้า ยามหายุทธ ตอนปี 4 ด้วย สรุปแล้วทั้ง 4 ปีก็ไม่เคยอยู่ฝ่ายมัลติมีเดียเลย”
 
UploadImage
 

ฉาก 3
“มันจะมีเวิร์กช็อปหนึ่งที่เราชอบที่สุดเลยคือ improvise คือให้เราอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยม แล้วก็จะมีคนกำหนดสถานการณ์ให้ว่าตอนนั้นเราเจอกับอะไรอยู่ เช่น ตอนนี้อยู่ในลิฟต์ที่กำลังขึ้น แต่ละชั้นเปิดออกมาก็จะมีการ improvise สถานการณ์ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ลิฟต์ค้าง มีกลิ่นไหม้ มีคนตาย ซึ่งผมสนุกมาก เป็นสิ่งที่ผมคิดถึงที่สุดในห้องเวิร์กช็อป ผมรู้สึกว่าคลาสนั้นสนุกสุดตรงที่มันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ แล้วมันบอกเราว่า ชีวิตเรากำหนดอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกันกับการแสดง แม้จะบอกว่ามีบทละครแล้ว มีบทพูดแล้ว แต่จริงๆ เรากำหนดสถานการณ์ตรงหน้าไม่ได้เลย บทก็เป็นแค่ไกด์ไลน์ เพราะเวลาเล่น มันก็ต้องไหลไปตามสถานการณ์อยู่ดี อย่างเช่น ในหนังเรื่อง กวน มึน โฮ มันจะมีฉากที่เราเล่นกันหนูนาแล้วมันต้องวิ่ง แต่หนูนาหกล้มจนขาชี้ฟ้า เราพูดว่า ‘เป็นอะไรหรือเปล่า’ ในแบบฉบับคาแรกเตอร์เหมือนในบท เราไม่ได้พูดว่าหนูนาเป็นอะไรหรือเปล่า ซึ่งซีนเหล่านี้มันก็ไม่ได้อยู่ในบท มันคือลิฟต์ตัวนั้นที่ไม่รู้สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราแค่ต้อง improvise ตามน้ำไปเรื่อยๆ

ฉาก 4
“อีกเรื่องที่เราเรียนรู้จากการทำละครเวทีคือการทำงานเป็นทีม คือตั้งแต่สมัยเรียนเสมอมา เราจะรู้สึกว่าเราพยายามเอาตัวรอดด้วยตัวเอง เพราะแม้ว่าเราจะติวหนังสือกับเพื่อน แต่เวลาเอนทรานซ์ก็ต้องสอบเอง พึ่งตัวเองอยู่ดี เราต้องช่วยเหลือตัวเองเพื่อไปสู่จุดที่ต้องการ ดังนั้นเราก็เลยเป็นคนที่อยู่กับตัวเองเยอะ ติวเอง อ่านหนังสือเอง แต่การทำละครเวทีมันเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย เราอยู่กับตัวเองไม่ได้ มันต้องทำงานเป็นทีม ทุกอย่างรวมกันเพื่อเป็นก้อนเดียวไปสู่คนดู ดังนั้นช่วงที่ทำงานผมจะเจอคนจากหลายฝ่ายมาก มีการตกลงร่วมกัน คุยร่วมกันเยอะมาก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก มันทำให้เรารู้ว่าการทำงานที่เป็นการแสดงสักอย่าง จะมีคนเบื้องหลังเยอะมาก”

“มันทำให้ผมเชื่อมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า การทำงานเป็นทีมดีที่สุด จะทำงานคนเดียวก็ได้แหละ แต่การทำงานเป็นทีมมันสบายใจ แล้วก็มีหลายความคิด มันจะไม่ได้แค่สิ่งที่ดี แต่จะได้คำว่าดีที่สุด”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : adaymagazine
 
UploadImage
 

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์

คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาการออกแบบสื่อดิจิทัล   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิตอล   สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล   มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์   มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อดิจิทัล  มหาวิทยาลัยสยาม

ดูรายละเอียดและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเพิ่มเติม คลิกที่นี่