สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ทัพฟ้าเมืองไทย หลังกองทัพอากาศฉลองครบ 79 ปี ด้วยการเปิดรับสมัครนักบินหญิง! กว่าชีวิตจะแลนดิ้ง ณ จุดนี้ 5 สาวนักบินหญิง แห่งกองทัพอากาศไทย ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง แพรวพาไปเยือนถึงถิ่นทัพอากาศ เพื่อทำความรู้จัก เจ้าเวหาหญิง ทีมนี้แล้ว!
นกยูง – เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์
“สมัยเด็กนกยูงฝันอยากเป็น 3 อาชีพ ครู พยาบาล และนักบิน พอเรียนจบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มทำตามความฝันตัวเองด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง จนมารับราชการทหารเป็นครูภาษาศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
พอทราบว่ามีเปิดรับนักบินหญิง นกยูงสมัครทันที ไม่ลังเล เพราะเป็นหนทางจะทำอีกหนึ่งฝันให้เป็นจริง”
พี – เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล
“สิ่งที่พีเชื่อมาตั้งแต่เด็กคือ ต้องเก่งภาษาอังกฤษ แล้วภาษาอังกฤษก็มีส่วนสำคัญในการนำพาชีวิตพีได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนจบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารเงินกองทุนและสวัสดิการ แผนกเงินกองทุนและสวัสดิการกองบริหารการเงิน กรมการเงินทหารอากาศ ตอนเรียนโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับหมวดกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ แล้วได้มาดูงานที่โรงเรียนการบิน มีคำถามกับตัวเองว่าทำไมกองทัพอากาศไม่รับนักบินหญิง ทำไมเราไม่มีสิทธิ์เป็น ถ้าเปิดรับเราสมัครแน่นอน ไม่คิดว่าโอกาสนี้จะเกิดขึ้นจริง (ยิ้ม) แต่เขารับคนที่มี CPL (Commercial Pilot Licence) จบหลักสูตร นักบินพาณิชย์ตรีก่อน จึงเฝ้าลุ้นเงียบๆ คนเดียวว่า ครบ 5 คนหรือยัง รู้ทีหลังว่าเหลืออีก 3 ตำแหน่ง โดยที่มีคนสมัครรออยู่ 9 คน คิดว่าต้องลองสักครั้งในชีวิต”
น้ำตาล – เรืออากาศโทหญิง ชนกานต์ สอนจ้าน
“แรกเลยน้ำตาลอยากเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดค่ะ (หัวเราะ) เพราะช่วงนั้นปัญหาเรื่องยาเสพติดค่อนข้างดัง พอโตขึ้นแผนชีวิตเริ่มเปลี่ยนหลังจากจบปริญญาตรีทางด้านสถิติมาหมาดๆ ไฟแรงอยากทำงานที่แอ๊คทีฟ แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้รับราชการ จึงเข้าทำงานเป็นนายทหารประมวลผลแผนกจัดการศึกษาและประมวลผลกองอำนวยการศึกษากองการศึกษาโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
พอทราบว่ามีการเปิดรับนักบินหญิงก็เตรียมตัวด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอบทั้งหมด”
พิซซ่า – เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์
“เวลาเห็นเครื่องบิน พิซซ่าจะชอบโบกมือให้ตามประสาเด็ก โตมาจึงอยากทำงานอะไรก็ได้ที่อยู่บนเครื่องบิน พอดีจบมาทางสายศิลป์ – ภาษา น่าจะเหมาะกับแอร์โฮสเตส หลังจากเรียนจบจึงเดินสายสมัครกว่า 6 เดือน ตกรอบสุดท้ายมาตลอดจนได้ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดินอยู่ 6 เดือน สุดท้ายได้เป็นแอร์โฮสเตสสายการบินนกแอร์ แล้ววันหนึ่งอ่านเจอบทสัมภาษณ์นักบินหญิง สะดุดกับประโยคที่ว่า ‘จบสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้’ รีบเสิร์ชหาข้อมูลว่า จะเป็นนักบินต้องทำอย่างไร กระทั่งรู้ว่ามีเปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี สถาบันการบินพลเรือนระยะเวลา 1 ปี พอเรียนจบทางกองทัพอากาศก็เปิดรับสมัครพอดี”
ไอ – เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร
“ไออยากเป็นนักบินอวกาศค่ะ เป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าคนไทยสามารถเป็นนักบินอวกาศได้หรือเปล่า ไอไม่มีความรู้ทางด้านการบินมาก่อน ไม่เคยเห็นกระทั่งสนามบิน เพราะบ้านอยู่จังหวัดระยอง จนช่วงเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูแนะนำให้รู้จักกับอาชีพนักบิน ว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นได้ แล้วได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเปิดสอนคณะสถาบันการบิน ซึ่งใช่ที่สุดแล้วสำหรับตัวเอง จึงขอที่บ้านเพื่อมาเรียน ทีแรกทางบ้านเป็นห่วงว่าจบแล้วจะมีงานทำไหม แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง และค่าใช้จ่ายในการเรียนก็สูง เกือบสามล้านบาท แต่ไอบอกกับที่บ้านว่า ถ้าให้ทำอาชีพอื่นคงไม่มีความสุข แต่ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบไอจะทำได้ดี แล้วสุดท้ายก็สามารถเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม อันดับ1 หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานกับบริษัทที่สอนเกี่ยวกับเครื่องซิมูเลเตอร์ พอได้ CPL กำลังจะเริ่มสมัครเป็นกัปตันของสายการบินพาณิชย์
ทางกองทัพอากาศก็เปิดรับสมัครพอดี”
1 ว่าที่ เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์ หรือนกยูง ตำแหน่งครูภาษา ศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
2. ว่าที่ เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล หรือพี ตำแหน่งนายทหารเงินกองทุนและสวัสดิการ แผนกเงินกองทุนและสวัสดิการ กองบริหารการเงิน กรมการเงินทหารอากาศ
3. เรืออากาศตรีหญิง ชนากานต์ สอนจ้าน หรือน้ำตาล ตำแหน่งนายทหารประมวลผล แผนกจัดการศึกษาและประมวลผล กองอำนวยการศึกษา กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
4. นางสาวสิรีธร ลาวัณย์เสถียร หรือไอ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต และจบหลักสูตรฝึกบิน จากสถาบัน Bangkok Aviation Center
5. นางสาวชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ หรือ พิซซ่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบหลักสูตรฝึกบิน จากสถาบันการบินพลเรือน
ประสบการณ์ขับเครื่องบินครั้งแรกของ เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา และ เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร
“เรากำลัง จะเริ่มบินไฟลท์แรกกับเครื่อง CT4 Chicken ซึ่งเราไม่เคยบินมาก่อน และเป็นการบินแบบทหาร อย่างบินเกาะหมู่ ท่าผาดโผนมากกว่า เครื่องบินพาณิชย์ที่เคยเรียนมา เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยกองทัพมีแต่นักบินชายที่มีมาตรฐานที่สูงมาก ตัวเราเองไม่ได้เป็นทหาร แล้วมาเป็นนักบินหญิงรุ่นแรก จึงต้องพัฒนาตัวเองให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับเขาให้มากที่สุด”
ระหว่างเส้นทางสู่จุดหมาย ย่อมมีตกหลุมอากาศกันบ้างอะไรบ้าง เพราะเมื่อน่านฟ้าไทยปูพรมต้อนรับนักบินหญิงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เป็นนักบินทหาร ก็หนีไม่พ้นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียล
“มีหลายสังคมหลายอาชีพที่ยังไม่เปิดใจรับผู้หญิง เคยอ่านข่าวของพวกเราทางออนไลน์ แล้วมีคนมาเขียนคอมเม้นต์ว่า ‘นักบินหญิงจะสู้นักบินชายได้หรือ’ ไอว่าการทำงานตรงนี้ไม่เกี่ยวกับเพศ อยู่ที่ความสามารถต่างหาก เพราะหน้าที่ของนักบินหญิงคือการบินตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบิน ลำเลียง และปฏิบัติภารกิจพิเศษ อย่างทำฝนหลวงและดับไฟป่า ซึ่งไม่เกินความสามารถแต่ไอจะไม่ค่อยอธิบายให้เขายอมรับ เราเลือกที่จะทำให้เขาเห็นดีกว่า ไอจะบอกกับพี่ๆ เสมอว่าเราทำให้ดีที่สุดเท่านั้นพอ” เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร กล่าว
จากนี้นักบินทั้งห้าจะฝึกบินภาคอากาศอีกหนึ่งปี ก่อนจะบรรจุเป็นนักบินประจำการพร้อมรบ ปฏิบัติภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย และแผ่นดินไทยในฐานะนักบินหญิงของกองทัพอากาศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : แพรว
อ่านเรื่องราวเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบิน
“นักบินขาด 2 แสนคนในอีก 10 ปีข้างหน้าทั่วเอเชีย” วิศวะการบินพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังมุ่งผลิตนักบินรองรับ
สาขาการจัดการความปลอดภัยการบิน ตลาดงานเปิดกว้างรับไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน
รีวิว 5 สาขาทุกสายธุรกิจการบินที่ขาดไม่ได้
เอเชียขาดบุคลากรด้านการบินนับล้านคน
“มนุษย์ทองคำ” นักบินสมองไหล อนาคตทั่วโลกต้องการกว่า 5 แสนคน – นกแอร์ขาดกว่า 100 คน การบินไทยล้น ถูกซื้อตัวเพียบ