สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ใบประกอบวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน

ใบประกอบวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน

UploadImage


อาชีพบริหารจัดการโครงการหลังขาย เพิ่งผุดโผล่บนผืนแผ่นดินไทยเมื่อกว่า 30 ปีหรือพร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นของที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดเมื่อปลายปี 2524 ยุคต้นพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าเป็นมนุษย์วัย 30 เศษๆ ถือว่าเป็น “ผู้ใหญ่” แต่การบริหารจัดการหมู่บ้านและคอนโดฯ เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เขามีมากกว่า 100 ปี ของเราจึงอยู่ในวัยอนุบาลขั้นเตาะแตะหัดเดินเท่านั้น

พินิจพิจารณาง่ายๆ เอาประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับไทยอย่างเช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลียและหรือเกาะฮ่องกง บุคคลที่จะทำหน้าที่บริหารตึกสูงจะต้องผ่านการเรียนสาขาอาชีพ ดูแลชุมชนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีใบประกอบวิชาชีพนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่ของเราไม่มีการกำหนดคุณสมบัติใดๆ

แปลว่าจบ ป.6 หรือชั้นมัธยมก็สามารถประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการหมู่บ้านและตึกสูงเสียดฟ้าได้ทุกเวลา

ด้วยเหตุฉะนี้ แม้จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองไทยกว่า 3 ทศวรรษ แต่เราก็ยังมะงุมมะงาหราไปไม่ถึงไหนต่อสักที แต่ที่ว่าๆ มานั่นคืออดีต ปัจจุบันหรือนับเนื่องกับการก้าวสู่ยุคประชาคมอาเซียนหรือ AEC เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา วิชาชีพบริหารทรัพย์สินในประเทศไทยกำลังพัฒนาสู่มาตรฐานอาชีพระดับสากลกับเขาเหมือนกัน

จุดเปลี่ยนผันเริ่มตอนปี 2557 เมื่อสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ TPQI ( Thailand Professional Qualification Institute ) มอบหมายให้สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาบริหารทรัพย์สิน ให้อยู่ในระดับชั้นเดียวกับนานาประเทศ

นคร มุธุศรี กับคณะกรรมการสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย 3-4 คน ร่วมกับคณาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยกันคิดทีละขั้นทีละตอน ระยะเวลาผ่านไป 2 ปีกว่าๆ ทำการผลิตเนื้อหาสาระรวบรวมเป็นเล่มหนากว่า 1,000 หน้า

นับต่อจากนี้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและนิติบุคคลอาคารชุดอย่างน้อย 2-3 ตำแหน่งต่อไปนี้ต้องผ่านศึกษาการเรียนรู้และสอบให้ได้ใบประกาศนียบัตร ( Certificate ) วิชาชีพเป็นรายบุคคล

1. “ช่าง”

2. “ผู้จัดการอาคาร” และหรือ “หมู่บ้าน”

3. “ผู้จัดการหมู่บ้านจัดสรร” และ “ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด”


3 ตำแหน่งข้างต้นต้องศึกษาเรียนรู้อะไรบ้างผมจะหยิบยกหมวดที่สำคัญๆ มาให้ดูพอเป็นกระสายสัก 7-8 วิชา อาทิ ระเบียบข้อกฎหมายการบริหารจัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด, การดูแลบำรุงรักษางานระบบและป้องกันอัคคีภัย, การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด, การสร้างมูลค่าและคุณภาพชีวิตเพิ่ม, การบริหารงบประมาณและบัญชีการเงิน, การให้บริการและการประชาสัมพันธ์, การประกันภัย และจริยธรรม/จรรยาบรรณ/ธรรมาภิบาล ฯลฯ

ศึกษาเรียนรู้จนอย่างถ่องแท้แล้วต้องไปสมัครสอบกับองค์กรที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI ) ให้การรับรอง ซึ่งขณะนี้มีหลายที่หลายแห่ง อย่างเช่น สถาบันการศึกษา บริษัทจำกัดและสมาคมหรือมูลนิธิ เป็นต้น

องค์กรที่ให้การรับรองจะต้องมีคุณสมบัติที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสาขาบริหารทรัพย์สิน กำหนด ดือ

สถานที่จัดสอบเหมาะสม มีเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการสอบพรั่งพร้อม มีเครื่องมือหรือข้อสอบครบถ้วนทุกระดับชั้นคณะกรรมการสอบมีคุณวุฒิตรงตามข้อกำหนด และมีคณะกรรมการตัดสินผลการรับรองที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญ

4-5 รายการข้างต้นหากคณะผู้บริหารสำนักงานรับรองคุณวุฒิทำการตรวจสอบแล้วลงมติเห็นชอบให้ผ่าน ก็จะออกหนังสือสำคัญให้เป็นองค์กรสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ เพื่อทำหน้าที่ให้การรับรองสมรรถนะของบุคคลในระดับชั้นและตำแหน่งตามที่ว่าในย่อหน้าต้นๆ ต่อไป

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้าสอบเอาใบรับรองสาขาวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน จะต้องมีคุณสมบัติ 3-4 ประการต่อไปนี้ครบครันคือ อายุอานามไม่น้อยกว่า 25 ปี บริบูรณ์ การศึกษาต้องจบชั้น ปวส. (เฉพาะตำแหน่งช่าง ) ระดับ ปริญญาตรี (ตำแหน่งผู้จัดการอาคารและผู้จัดการนิติบุคคล ขึ้นไป) และมีประสบการณ์การทำงานในสายบริหารนิติบุคคลหมู่บ้านจัดหรือนิติบุคคลอาคารชุดไม่ต่ำกว่า 3- 5 ปี เป็นอย่างน้อย

ปัจจุบันมีบุคลากรที่อยู่แวดวงนับหมื่นๆ ท่านโดยคำนวณได้จากจำนวนคอนโดที่ผุดโผล่ บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 13,000 โครงการ และบ้านจัดสรรอีก 2-3 หมื่นโปรเจ็กต์ รวม 2 ประเภทนี้ก็ปาเข้าไปร่วมๆ 3-4 หมื่นโครงการ นี่ยังไม่รวมอาคารสูงประสำนักงาน อพาร์ตเมนต์และโรงแรมโรงพยาบาลอีกไม่รู้เท่าไหร่ อสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นจำต้องมีพนักงานดูแลบำรุงรักษา อย่างน้อยๆ 10-20 คนทุกที่ทุกแห่งไป

นับตั้งแต่นี้ ทุกคนจะต้องเข้าสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตร หรือ Licence มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำงานในสาขาวิชาชีพบริหารทรัพย์สินได้อีกต่อไป

ระยะเวลาอีก 5-6 ปีต่อจากนี้การบริหารจัดการหมู่บ้านและคอนโดฯ รวมทั้งตึกสูงเสียดฟ้าจะผันเปลี่ยนจากที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวกลับกลายเป็น “มืออาชีพ” มีมาตรฐานเทียบเท่านานาประเทศเขา

และ ณ เวลานั้น พ.ร.บ.อาคารชุดและกฎหมายบริหารหมู่บ้านจัดสรรจะถูกปรับแก้ให้เข้ายุคสมัยโดยบุคคลที่ดูแลจัดการนิติบุคคลทั้งประเภทตึกสูงและแนวราบจะถูกกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ( Licence ) เป็นหลักฐาน..!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 – 21 กันยายน พ.ศ. 2559