ทันตแพทยสภาปรับหลักสูตรทันตาภิบาล ตัดเรื่องอุดฟัน-ถอนฟันออก เน้นทำงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่องปากเป็นหลัก เริ่มใช้อีก 5 ปีข้างหน้า
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 เปิดเผยว่า ทันตแพทยสภาได้เห็นชอบการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนทันตาภิบาล โดยตัดเรื่องการอุดฟัน ถอนฟันออกไป และให้มีสมรรถนะการปฏิบัติงานในเชิงป้องกันและส่งเสริมสุขภาพในช่องปากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่ปรับในปีนี้ จะเริ่มใช้สอนในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564
ทพ.ธงชัย ขยายความว่า ในอดีต 40-50 ปีก่อนที่มีการผลิตทันตาภิบาลให้สามารถอุดฟัน ถอนฟันได้ เนื่องจากช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนทันตแพทย์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไป ขณะนี้ประเทศไทยมีทันตแพทย์ประมาณ 15,000 คน และมีงานวิจัยของ IHPP ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าใน 10 ปีนี้ ทันตแพทย์จะพอเพียง ดังนั้นในปี 2558 ทางทันตแพทยสภาจึงได้ออกสมรรถนะการปฏิบัติงานของทันตาภิบาล ให้ทำงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก ตัดเรื่องการถอนฟัน อุดฟันออก แต่ยังสามารถขูดหินปูนได้ ทำพลาสติกเคลือบร่องหลุมฟันได้ และในปีนี้ถึงรอบการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งปรับทุกๆ 5 ปี จึงมีการปรับหลักสูตรในโรงเรียนทันตาภิบาลให้เป็นไปตามสมรรถนะที่ทันตแพทยสภาได้กำหนดไว้
"เป้าหมายหลักเพื่อให้ทันตาภิบาลที่จบจากหลักสูตรใหม่ๆ สามารถทำหน้าที่หลักในการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกันกับทันตแพทย์ ทันตแพทย์ก็ทำงานรักษาฟันไป ส่วนทันตาภิบาลทำเรื่องป้องกันในระดับบุคคล คนไข้มาที่คลีนิค จะทาฟลูออไรด์ ขูดหินปูน เคลือบร่องฟัน สอนแปรงฟัน ฯลฯ อยู่ในคลีนิคเป็นรายคน รวมทั้งทำเรื่องลงไปทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในระดับชุมชน อันนี้เป็นการมองอนาคตไปไกลๆ เลยว่าเราอยากให้มีบุคลากรด้านทันตกรรมกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เพราะโรคฟัน 80-90% เป็นโรคที่ป้องกันได้ การไปรักษาปลายทางก็ยังจำเป็น แต่ทำยังไรก็ทำไม่ทัน ถ้าไม่ผลิตคนที่เน้นการป้องกันและส่งเสริมโดยเฉพาะ" ทพ.ธงชัย กล่าว
ทพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เหตุที่ต้องเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่พร้อมให้ผลิตทันตาภิบาลในหลักสูตรใหม่ โดยมีเหตุผลว่าคนไทยในต่างจังหวัดยังเข้าไม่ถึงบริการ ในจำนวนทันตแพทย์ทั้งหมด 50% หรือประมาณ 7,500 คนอยู่ในกรุงเทพฯ อีกครึ่งกระจายทั่วประเทศ สธ.เลยยังต้องการให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีทันตาภิบาลที่ถอนฟันอุดฟันได้อยู่ จึงตกลงกันว่าหลักสูตรที่จะปรับในปีนี้จะให้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564 ส่วนคนที่เข้าเรียนในช่วง 5 ปีนี้ ยังได้เรียนหลักสูตรเดิมไปก่อน
ทพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวิชาชีพทันตาภิบาลในเบื้องต้น พบว่าส่วนใหญ่อยากมาทำงานป้องกันและส่งเสริมด้วย เพราะปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมสูงอายุ คนไข้ที่มาถอนฟันก็มักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซับซ้อน ทันตาภิบาลที่ถอนฟัน อุดฟันได้จึงเริ่มรู้สึกกังวลถึงผลกระทบจากการถอนฟันให้คนกลุ่มนี้ เกรงว่าจะทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มที่รู้สึกว่างานด้านการรักษาทำไปเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่ถ้าทำงานป้องกันไม่ให้คนเป็นโรค ทำให้เด็กกินขนมหวานน้อยลง ฯลฯ จะรู้สึกภูมิใจ
"ตอนนี้หลักสูตรผ่านทันตแพทยสภาแล้ว แปลว่าใน 5 ปีข้างหน้าที่เราเริ่มเรียนปุ๊ป อีก 4 ปีจบออกมา เราจะมีทันตาภิบาลสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญงานป้องกันในระดับบุคคลและสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในระดับชุมชน" ทพ.ธงชัย กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : hfocus