สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัย ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

UploadImage

บริบทต่าง ๆ ในศตวรรษใหม่ที่เรากำลังเผชิญ ต่างจากโลกในศตวรรษที่ผ่านมาในหลายมิติ นับเป็นความท้าทายสำหรับทุกคนและทุกสถาบันที่จะต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผมขอร่วมเสนอมุมมองใน 3 ประเด็น คือ 1.โลกที่ไม่เหมือนเดิม 2.โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง 3.การขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ศตวรรษใหม่

ในประเด็นที่หนึ่ง-โลกที่ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา ความคิด จินตนาการ และปรับตัวได้ จึงทำให้มนุษย์สามารถก้าวออกจากถ้ำ จนไปยืนอยู่บนดวงจันทร์ได้ และสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้สิ่งที่เคยอยู่ในจินตนาการเป็นจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ที่สำคัญ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี จะยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในอนาคตรวดเร็วและคาดเดาได้ยากยิ่งขึ้น มองไปข้างหน้าความไม่เหมือนเดิมของโลกที่จะมีนัยต่อมหาวิทยาลัยในระยะต่อไป คิดว่ามี 3 มิติสำคัญ ดังนี้ มิติแรก คือ โลกไร้พรมแดน

พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ทำให้โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับเล็กและแคบลง เสมือนประชาคมโลกเป็นชุมชนเดียวกัน และผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดของ UN World Tourism Organi-zation (UNWTO) ระบุว่า คนที่เดินทางออกนอกประเทศมีเกือบ 20% ของประชากรโลก และ Internet Smartphone และ Social Media ทำให้ข้อมูลข่าวสารเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง ผู้คนทั่วโลกสามารถรับรู้และตอบโต้กันได้อย่างฉับพลัน

ประเมินกันว่าปัจจุบันเกือบร้อยละ 70 ของประชากรโลก สามารถใช้เทคโนโลยี 3G ได้แล้ว

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สังคมและวัฒนธรรมทั่วโลกจะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่ง ตัวอย่างง่าย ๆ คือ ในเวลาเพียง 1 ทศวรรษ กระแส K-pop หรือ เกาหลีฟีเวอร์ สามารถแทรกตัวไปทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่น่าเชื่อ หรือภาพผู้อพยพที่หนีตายอัดแน่นในเรือเล็ก ๆ ข้ามมหาสมุทร แต่เมื่อรอดชีวิตขึ้นฝั่งได้กลับถูกรังแกจากประเทศปลายทาง ที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั่วโลกจนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พูดกันมาหลายสิบปีได้รับการดูแลในฐานะกติกาของโลกและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

 
 
UploadImage
 

มิติที่สองคือโลกซับซ้อนมากขึ้น ด้านหนึ่งดูเหมือนโลกเล็กและแคบลง แต่หลายเรื่องก็ชี้ว่าโลกที่เราอยู่นี้ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ความกว้างและความลึกของเรื่องราวที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผลวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาสะท้อนความซับซ้อนเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินของโลกจนยากจะคาดการณ์ ขนาด Queen Elizabeth ที่ 2 ทรงเอ่ยถาม Professors ที่ London School of Economics ในคราวที่เสด็จไปเยือนว่า "Why no one saw credit crunch coming ?" พูดง่าย ๆ คือ ทำไมไม่มีใครเห็นว่า วิกฤตจะเกิดขึ้น ?

ปัญหาการก่อการร้าย ที่เริ่มมีถี่ขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น หรือปัญหาการอพยพของผู้ลี้ภัย ก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ออกของปัจจัยทางการเมือง วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และเมื่อไม่นานมานี้สหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ของโลก 17 เรื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเด็น อาทิ Gender Equality, Sustainable Cities and Community, Peace and Justice, Quality Education ซึ่งก็สะท้อนปัญหาที่หลากหลายของโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่

มิติที่สาม คือ โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดายาก แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เกิดใน "Speed ที่เร็ว" ขึ้นมาก อีกทั้งยัง "คาดเดายาก" ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ย้อนไป 5 ปีก่อน เราจะเชื่อหรือไม่ถ้ามีใครมาบอกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะติดลบชนิดธนาคารในบางประเทศต้องคิดค่าฝากเงินจากลูกค้า, ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เคยอยู่ระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล และใคร ๆ ก็มองว่าเราจะไม่มีทางได้ใช้น้ำมันราคาถูกอีกแล้ว กลับเหลือแค่ 25 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีนี้ และบริษัทที่ไม่มี Taxi หรือโรงแรม เป็นของตัวเองเลย เช่น UBER และ AiRBnB จะกลายเป็นหนึ่งใน Operator ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้

ผู้รู้หลายท่านบอกว่า ความจริงใหม่ หรือ New Normal ของโลก คือ เราจะเจอกับเรื่อง Surprise บ่อยและถี่ขึ้นเรื่อย ๆและนี่เพิ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้น

 
 
UploadImage
 

Disruptive Technology จะกระทบความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะระดับบุคคล องค์กร สังคม McKinsey คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนสิ่งที่มนุษย์ทำได้เกือบครึ่งหนึ่ง นัยคือคนในยุคต่อไปกว่าจะเกษียณ อาจจะต้องเปลี่ยนงาน 4-5 อย่าง

นอกจากโลกที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว มองมาใกล้ตัว ไทยมีความก้าวหน้าไม่น้อย แต่ภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องกลับเปราะบางอย่างน่ากังวล การพัฒนาของประเทศในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน เศรษฐกิจขยายตัวประมาณ 14 เท่า ผู้คนจำนวนมากพ้นความยากจน พัฒนาการทางการแพทย์ทำให้คนไทยมีสุขอนามัยที่ดีและชีวิตยืนยาวขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

แต่อีกมุมหนึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศเรามีโจทย์หลายเรื่องที่รอการแก้ไข อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ปี 2556 Credit Suisse จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับ 6 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด สิ่งนี้สะท้อนว่าคนไทยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาไม่เท่ากัน และถ้าดู "อัตราการพัฒนาเขตเมือง" หรือ Urbanization Rate ของไทยยังอยู่ต่ำแค่ร้อยละ 30 กว่า ๆ ใกล้เคียงกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ทั้ง ๆ ที่เราเริ่มพัฒนามาก่อน ที่แย่ไปกว่านั้นร้อยละ 80 ของ Urbanization กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าประโยชน์ของการพัฒนาที่ผ่านมากระจุกที่ส่วนกลาง

ปัญหาศักยภาพการเติบโตลดลง พบว่าทศวรรษก่อนปี 2540 เคยโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี แต่ปี 2543-56 เราโตเฉลี่ยแค่ประมาณร้อยละ 4 และหลัง ๆ ก็ดูต่ำลง ปัญหาคุณภาพของระบบการศึกษาของเราด้อยลง ดูจากดัชนี Quality of Education System ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 78 ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ และหลายประเทศที่เคยตามหลังเรากลับนำเราไปชนิดไม่เห็นฝุ่น ปัญหาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนและปัญหาสังคมมากขึ้น สถิติอันหนึ่งที่น่าสนใจ จำนวนการฆ่าตัวตายของคนไทยปี 2557 สูง 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน ที่น่าตกใจคือ เด็กเพียง 10 ขวบก็คิดฆ่าตัวตายแล้ว แสดงถึงภูมิต้านทานชีวิตของคนไทยอยู่ในระดับต่ำอย่างน่ากังวล

ปัญหาสังคมผู้สูงอายุกำลังคุกคามไทย World Bank คาดว่าภายในปี 2583 จะมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 17 ล้านคนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ แต่คนในวัยทำงานกลับลดลงมากกว่าร้อยละ 10

ปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

และที่น่าหนักใจ คือ กลไกภาครัฐที่ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหรือขับเคลื่อนประเทศกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในหลายกรณีกลับเป็นตัวเหนี่ยวรั้งศักยภาพภาคเอกชนจากกฎระเบียบที่มีอยู่มากมายจนเกินพอดี

ประเด็นที่สอง-โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งกล่าวคือ บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมและปัญหาที่รุมเร้าประเทศขณะนี้ นับเป็นโอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็น "เสาหลัก" ที่จะช่วยประเทศเผชิญกับความท้าทายและก้าวข้ามปัญหาข้างต้นได้ เพราะมหาวิทยาลัยยังเป็น ศูนย์รวมบุคลากรคุณภาพ องค์ความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และช่วยวางรากฐานความรู้ ความคิด ทักษะและจริยธรรมให้แก่นิสิตนักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

ผมเชื่อว่าโจทย์ใหญ่ในหัวใจของทุกคน คือทำอย่างไรให้ประเทศและโลกได้รับประโยชน์จากผลผลิตและทรัพยากรเหล่านี้ได้เต็มศักยภาพ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า"เทคโนโลยี"ทำให้เกิด Platform และการเชื่อมโยงของความรู้ ข้อมูล และข่าวสารให้ประชาคมโลกนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้างผ่าน Internet ที่สำคัญทฤษฎีและความรู้ที่เคยทันสมัยอาจจะล้าสมัยได้ในเวลาไม่นาน ผมจึงคิดว่าโลกที่ไม่เหมือนเดิมมีนัยต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยใน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างคน, การสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม สุดท้ายการนำองค์ความรู้ไปอำนวยประโยชน์ต่อสังคม

ในเรื่องของการสร้างคน ต้องยอมรับว่าคนมีความหลากหลายเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าที่ต้องมีทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้เลื้อย ต้นหญ้า ที่รวมกันแล้วล้วนทำให้ป่าเกิดความสมบูรณ์ การจะพัฒนาคนที่หลากหลายให้สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เป็นภารกิจที่ท้าทายของมหาวิทยาลัยในกระบวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ระบบ Lecture ลักษณะผู้เรียนเป็น Passive Learner ซึ่งเป็นวิถีหลักในการบ่มเพาะบัณฑิตไทย เป็นระบบที่ไม่สามารถดึงศักยภาพเด็กออกมาได้เต็มที่ ความรู้ที่ได้ในห้องแทบไม่อยู่ในความทรงจำเมื่อสอบเสร็จ ดังนั้น การเผชิญกับโลกที่ไม่เหมือนเดิม การช่วยให้เด็กค้นหาตนเอง และการให้เครื่องมือและปลูกฝังหลักคิดเพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวสู่วัยทำงานความรู้และทักษะที่นำมาใช้ส่วนใหญ่กลับเป็นสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เคยกล่าวว่า "เด็กที่เริ่มเรียนประถม 1 ในปีนี้ (ปี 2558) จะเกษียณอายุในปี 2612 ไม่มีใครที่สามารถจะคาดเดาได้ว่าโลกในปีนั้นจะเป็นอย่างไร เราต้องสอนอะไรเด็กเหล่านั้นเพื่อให้สามารถอยู่ในโลกใบนี้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้"

ดังนั้น การ "สอนอะไร" คงไม่เพียงพอซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยอมรับจากนักการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยควรปลูกฝัง "ทักษะและอุปนิสัยที่จำเป็น" ในการอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดน ซับซ้อนได้และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วชนิดคาดเดายาก ซึ่งได้แก่ทักษะการรู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่ม รู้จักสื่อสาร และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ นิสัยใฝ่รู้ สร้างสรรค์ ขยันอดทน รู้จักปรับตัว มีภาวะผู้นำ เปิดใจยอมรับความแตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีจิตสาธารณะ (Public Mind)

 
UploadImage
 


แต่ในบริบทของไทยผมคิดว่า "การมีสติ" และ "การอ่อนน้อมถ่อมตน" สำคัญมาก

สติ มีความสำคัญ บรรพบุรุษเราจึงสอนว่า "สติเป็นหางเสือ" ที่จำเป็นต้องฝึกไว้ให้มั่นคง โดยเฉพาะในภาวะที่ข้อมูลมีมากมาย และบ้างก็เผยแพร่กันอย่างไม่รับผิดชอบ สติจะช่วยเด็กเข้าใจ และแยกแยะว่าจะใช้หรือเชื่อถือข้อมูลที่รับมาได้เพียงใด

การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาถูกตีความในเชิง "เชื่อฟัง หรือยอมจำนน" และทำให้เรานำนัยที่แท้จริงของคุณสมบัตินี้มาใช้ได้ไม่ดีนัก ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลาเคยกล่าวว่า "การอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) เป็นลักษณะนิสัยที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์พึงจะมี เพราะจะทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่น"

ผมคิดว่าในยุคนี้ยิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราเห็นคุณค่า ไม่ตัดสินคนอื่น จะเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างของผู้คนที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ