"ตู้เย็นที่บ้านส่งสัญญาณเตือนให้ซื้อไข่ไก่
เปิดเครื่องปรับอากาศจากระยะทางไกลเพื่อให้อุณหภูมิพอเหมาะก่อนถึงบ้าน
เมื่อเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตมีข้อความบนมือถือทักทายระบุชื่อและสินค้าที่อยู่ในความสนใจลดราคาเป็นพิเศษ
มีข้อมูลเรื่องการหายใจของทารก ตลอดจนการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกายตามเวลาจริงแก่พ่อแม่ ฯลฯ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงของสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things (IoT)"
พ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกน้อยที่อยู่ห่างไกลไป สามารถรับข้อมูลชนิด real time จาก sensors และชิ้นส่วน electronic ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ที่อยู่ในห้อง และส่งสัญญาณมาเข้าโทรศัพท์มือถือ
ไอเดียในเรื่องเครือข่ายของ smart devices ดังกล่าวข้างต้น มีมาตั้งแต่ปี 1982 โดยมีการสร้างตู้หยอดเหรียญซื้อโค้กที่ Carnegie Mellon University (เดิมชื่อ Carnegie Institute of Technology) ประดิษฐกรรมนี้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตเครื่องแรกของโลก ตู้นี้สามารถรายงานว่ามีสต็อกเหลืออยู่กี่กระป๋อง กระป๋องที่ใส่เข้าไปเย็นหรือยัง ฯลฯ
ในปี 1991 Mark Weiser เขียนบทความสำคัญชื่อ “The Computer of the 21th Century” และตามมาด้วยงานเขียนของนักวิชาการอีกหลายคนจนเกิดวิสัยทัศน์ในเรื่อง IoT ขึ้น
Samuel Greengard ผู้เขียน “The Internet of Things” (2015) บอกว่า IoT จะผลิตข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล (Big Data) ที่จำเป็นต้องมีผู้นำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ (ดังที่เรียกว่า data mining) ไม่ว่าในการค้าหรือการผลิต และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของสิ่งรอบข้างและของพฤติกรรมมนุษย์