นี่เป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีศึกษาฯ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และที่ประชุม ทอป. นัดพิเศษเมื่อวันพฤหัสฯ ก็สรุปว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ของรัฐมนตรี โดยระบบที่ปรับใหม่ต้องให้มหาวิทยาลัยและนักเรียนเลือกได้ ไม่ต้องวิ่งรอกสอบเหมือนที่ผ่านมา และลดค่าใช้จ่าย ไม่เป็นภาระกับนักเรียนและผู้ปกครอง และเห็นด้วยว่าควรจะให้เด็กอยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษามัธยมปลาย ไม่ใช่อยู่ ม.4 หรือ ม.5 ก็เริ่มจะวุ่นวายกับการพยายามวิ่งรอกสอบเข้าอุดมศึกษาแล้ว
ดังนั้น เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ก็จะปรับการรับนักศึกษาให้เหลือเพียง 3 ระบบนั่นคือ
1. ระบบโควตา ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถรับได้ทั้งปี แต่ต้องไม่มีการสอบเช่นโควตานักกีฬา โควตาเด็กโอลิมปิกวิชาการ โดยพิจารณาจากความสามารถและมาตรฐานการเรียนดี
2. ระบบ clearing house ปีละสองครั้งโดยใช้ข้อสอบกลางและจัดให้สอบเพียงครั้งเดียวทั่วประเทศ แปลว่ามหาวิทยาลัยทั้ง 27 แห่งในกลุ่มสมาชิก ทปอ. จะไม่มีการจัดสอบก่อนเดือนมี.ค. พอผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์แล้ว ก็ไม่สามารถไปสมัครสอบที่อื่นได้อีก และการจัดสอบเพียงครั้งเดียวก็จะพยายามให้เสร็จภายในสองเดือนคือมี.ค. ถึงเม.ย. และ
3. ระบบรับตรง ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการได้เองเพื่อให้ได้เด็กตามที่ต้องการ แต่จะทำได้ต้องหลังจากการรับผ่านระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์แล้วเท่านั้น และมีการย้ำว่าการให้มหาวิทยาลัยรับตรงในกรณีนี้ไม่ใช่เปิดทางให้ทำรายได้ แต่เพื่อให้ได้เด็กตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัย ส่วนเกณฑ์เป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปกำหนดเองได้โดยหลักการสำคัญคือจะไม่มีระบบ admission อีกต่อไป
ที่ประชุม ทอป. บอกว่าจะสรุปประเด็นเหล่านี้ไปยังรัฐมนตรีศึกษาฯวันที่ 5 ก.ย.นี้ โดยยอมรับว่าจะต้องไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการเรื่องนี้ให้มีความเสถียร เที่ยงตรง และต้องปรับปรุงข้อสอบกลางเสียใหม่ ให้มีความเป็นมาตรฐานแม่นยำมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะทำตามนี้หรือไม่ จึงต้องประชุมร่วมกับกลุ่มอธิการบดีของสถาบันราชภัฏกับเทคโนโลยีราชมงคลทั้งหลายด้วย เพราะหากทำกันลักลั่น ทำบ้างไม่ทำบ้าง โดยอ้างว่าภายใต้กฎหมายปัจจุบัน อำนาจอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง กระทรวงศึกษาฯไม่มีสิทธิสั่งการ ก็จะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่วประเทศได้เช่นกัน
ถามว่าการปรับปรุงระบบการรับสมัครนักศึกษาเข้าสถาบันอุดมศึกษาเช่นว่านี้ถูกต้องหรือไม่? ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ติดตามระบบการศึกษาของไทยจะต้องเห็นพ้องว่าระบบ admission ที่ผ่านมามีปัญหาหนักหน่วง สร้างความเหลื่อมล้ำ และที่สำคัญคือคนจบมหาวิทยาลัยออกมาก็มิได้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมแต่ประการใด ตรงกันข้ามมาตรฐานของคนเรียนอุดมศึกษามีแต่ถดถอยและไร้ความสำนึกต่อสังคมมากขึ้นทุกที
ดังนั้น มาตรการใดที่จะสร้างมาตรฐานเดียวกัน มีความเข้มข้นเรื่องคุณภาพของการวัดผลให้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และลดความไม่เท่าเทียม อีกทั้งคลายความเครียดของสังคมย่อมจะดีกว่าระบบเดิมทั้งสิ้น จะมีผู้ไม่เห็นพ้องก็คงจะเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์จากระบบเดิมเพราะความได้เปรียบไม่ว่าจะเพราะสถานะทางเศรษฐกิจ การสามารถเข้าถึงโอกาสได้มากกว่าหรือเพียงเพราะต่อต้านความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ หากมหาวิทยาลัยทั้งหมดไม่มีความเป็นเอกภาพโดยพร้อมใจกันทำตามกติกาใหม่เหมือนๆ กันโดยไม่มีการลักไก่เพื่อประโยชน์ของตน สิ่งที่อาจจะตามมาก็คือรัฐมนตรีศึกษาฯอาจเสนอใช้มาตรการ “เด็ดขาด” เช่น ม. 44 อย่างที่ทำกับเรื่องอื่นๆ ของกระทรวงฯก่อนหน้านี้
เป็นเรื่องน่าอับอายไม่น้อยหากการแก้ปัญหาของอุดมศึกษา ที่ได้ชื่อว่าเป็นชนชั้นปัญญาชน จะต้องถูกอำนาจ “เบ็ดเสร็จ” นอกระบบมาสั่งการให้แก้ไขปัญหาของตนเองเช่นนี้! ความจริงการปฏิรูปการศึกษาของไทยนั้น ไม่ใช่วนเวียนเฉพาะอยู่ที่ระบบการคัดเลือก นักเรียนเข้าสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น หากแต่ต้องก้าวให้ทันโลก ที่กำลังสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา เพราะเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง
ขณะที่เรายังหมกมุ่นอยู่กับการสอบคัดเลือก แย่งที่นั่งในห้องเรียนมหาวิทยาลัย
หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การศึกษาทุกระดับ ด้วยดิจิทัลที่ทุกคนเรียนได้ทุกแห่งทุกเวลา
หนึ่งในหนังสือหลายเล่มที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญ ในหมู่นักคิดนักปฏิรูปการศึกษาของโลกชื่อ “The End of College” ที่วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการล่มสลาย ของระบบมหาวิทยาลัยปัจจุบัน และกำลังก้าวย่างสู่ University of Everywhere หรือ “มหาวิทยาลัยทุกแห่งหน”
ประเทศไทยเรายังมะงุมมะงาหราอยู่ในวงจรเก่าๆ อย่างนี้
จะก้าวขึ้นเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างไร?
ขอบคุณที่มา : bangkokbiznews