คนทุบตึก : ศักดา พันธุ์น้อย
หลายคนที่ช่างสังเกตเวลาขับรถสักหน่อย จะพบป้ายโฆษณามากมายตามข้างทาง บ้างก็เป็นโฆษณาทั่วๆ ไปไม่ได้ดึงดูดความน่าสนใจอะไรนอกจากการขายของทั่วไป แต่หนึ่งในนั้นก็มีบางโฆษณาที่แทรกตัวออกมาอย่างโดดเด่น เรากำลังพูดถึง ศักดาทุบตึก บริษัทที่รับจ้างทุบตึก อาชีพซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความสร้างสรรค์อะไรในการโฆษณา แต่ศักดาทุบตึกกลับมีลูกเล่นในการดึงดูดลูกค้ามากมาย จนทำให้เราต้องเดินทางไปพบกับ “ศักดา พันธุ์น้อย” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรื้อถอนหรือทุบตึกต่างๆ มายาวนานกว่า 30 ปี
“กว่าจะมาเป็นศักดาในวันนี้ ผมผ่านอะไรมาเยอะมาก ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นคนอุบลราชธานี เรียนหนังสือจบช่างยนต์ แล้วพ่อก็มาเสีย ทุกคนในบ้านผมทำงานได้ดีกันหมด แต่ผมเป็นคนเกเรที่สุดในบ้าน ก็เลยนั่งรถมาหัวลำโพง มาหางานทำ แต่ไม่ได้ทำ เพราะเขาหาว่าผมเป็นจิ๋กโก๋ เขาก็เลยไม่รับผมเข้าทำงาน แล้วพอดีเป็นช่วงที่ทางบ้านเขียนจดหมายติดต่อมาหาพี่สาวที่กรุงเทพฯ ว่าเจอน้องชายไหม พี่สาวก็เลยตามหาผมจนเจอ แล้วพาผมไปสมัครงานเป็นคนขับรถตู้ พาลูกค้าไปดูบ้านตามโครงการบ้านจัดสรร เมื่อก่อนถนนหนทางมันไม่ได้เจริญ คนจะซื้อบ้านทีก็ต้องมีคนขับรถตู้พาไปดูบ้าน หลังจากนั้นหัวหน้าผมก็เลยลองให้ผมมาหัดเป็นเซลล์ขายบ้าน
“จุดพลิกผันของผมเกิดขึ้นเมื่อไปเจอกับเพื่อนคนนึงแล้วผมก็คุยกับเขา เขาก็บอกผมว่าจะไปเป็นเซลล์ขายบ้านทำไม มาทุบตึกกับเขาดีกว่า เพราะสมัยก่อนทางด่วนยังไม่ได้รื้อ รถไฟฟ้ายังไม่มี มันก็มีการทุบที่ต่างๆ ทิ้งมากมาย ทั้งได้ค่าจ้าง ทั้งได้ของฟรีเอามาขาย ก็เลยเป็นจุดพลิกผันของชีวิตผมที่ได้มาทำอาชีพนี้
“การทำธุรกิจนี้ เราต้องเป็นฝ่ายไปหาลูกค้า ไม่ใช่ลูกค้ามาหาเรา ไปไหนก็ได้แล้วแต่ลูกค้าจะโทรมาเราต้องไปดูสถานที่ก่อนว่าเราสามารถทำอะไรได้แค่ไหน ถ้าเป็นบ้านปูนเราก็คิดว่าจะทำยังไง แต่ถ้าเป็นบ้านไม้ เราก็ซื้อทั้งหลัง แล้วมาถอนตะปู วางขายไม้ ส่วนเรื่องราคา ปกติมันจะไม่เหมือนก่อสร้าง งานก่อสร้างมันคิดเป็นตารางเมตร แต่ทุบตึกมันจะคิดที่ประสบการณ์
“ตั้งแต่ผมเปิดบริษัทมาก่อนที่จะเริ่มมาทุบตึก ผมทุบมาก่อน 5 ปี แล้วคราวนี้ถ้าผมจะไปประมูลงาน ผมก็ต้องจดทะเบียนในรูปบริษัทถึงจะรับงานได้ ผมก็เลยจดเมื่อปี พ.ศ.2538 ก็ต้องเสียภาษี ตอนแรกเราจะทุบแบบชาวบ้านทั่วไป แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว ต้องทำแบบมีมาตรฐาน ราคาบ้านไม้ที่ผมซื้อก็จะขึ้นอยู่กับเรตราคาไม้ตามท้องตลาด คนงานก็ต้องดูว่างานใหญ่หรือไม่ใหญ่ ถ้าใหญ่หน่อยก็ใช้คน 10-20 คน แต่ถ้างานเล็ก ก็ 5 คนทำงานสบายๆ
“จริงๆ คนมองข้ามธุรกิจนี้กันเพราะคิดว่าเป็นงานของกรรมกร แต่ผมจะบอกให้ว่าเมื่อผมเดินเข้าบ้านหลังนึง ผมสามารถขายได้ทุกอย่าง เศษเหล็กก็เอามาขาย เศษปูนก็เอามากองขาย มีแต่ได้กับได้ แต่เดี๋ยวนี้มีแต่คนซื้อแข่งกัน ไม่เหมือนสมัยก่อน ผมมารุ่นแรกๆ ได้ทั้งค่าจ้าง ได้ทั้งของฟรี แต่เวลานี้มันเยอะเกิน ก็เลยกลายเป็นการแข่งกัน แต่ผมจะได้เปรียบตรงที่มีเครื่องมือพร้อม เพราะบางคนเขาต้องไปเช่า ก็แพ้ผมเรื่องราคา รายได้ต่อเดือนผมก็ได้เยอะพอประมาณ แต่รายจ่ายก็เยอะด้วย ทั้งค่าซ่อมเครื่องมือ ค่าน้ำมัน แต่รวมๆ มันก็ถือว่าคุ้ม
“กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ ผมภูมิใจที่สามารถเป็น ‘ศักดาผู้เชี่ยวชาญในการรื้อถอน’ สร้างบริษัทได้ถึงขนาดนี้ เพราะญาติแต่ละคนจบมาเป็นครู เป็นนายตำรวจ ทำงานบริษัทเรียนสูงๆ กันทั้งนั้น มีผมเรียนน้อยที่สุดเกเรที่สุดแต่สามารถมาสร้างได้ขนาดนี้และยังสามารถให้พี่น้องหยิบยืมได้ ผมก็คิดว่าดีกว่าคนอื่นในด้านทรัพย์สิน แต่ผมก็ไม่เคยลืมตัวว่าผมมาจากจุดไหน ไปเจอผมข้างนอกผมก็แต่งตัวแบบนี้ สบายๆ กับลูกน้องก็ทำตัวเหมือนเพื่อน ไม่ทำตัวเป็นเถ้าแก่ ผมเคยเป็นอย่างไรก็ยังทำตัวอย่างนั้น ไม่เป็นวัวลืมตีน”
ล้วงความลับกับนักสืบ : ธนัตถ์ ศรีอาริยะรุ่งเรือง
ถ้าพูดถึงอาชีพนักสืบ ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นภาพเหล่านี้ได้ในภาพยนตร์หรือการ์ตูน ที่พอมีคดีขึ้นมา ก็จะมีการค้นหาหลักฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อมัดตัวคนร้าย ซึ่งในระหว่างนั้นเองก็จะพบกับเรื่องราวต่างๆ ที่ลุ้นระทึก จนใครบางคนอาจฝันอยากเป็นนักสืบขึ้นมา แต่ในโลกแห่งความจริง อาชีพนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนในหนัง เพราะทุกอย่างต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดี
คุณธนัตถ์ ศรีอาริยะรุ่งเรือง หรือ เดวิด เจ้าของสำนักงานนักสืบเอกชน Consult VIP ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลได้อย่างหมดเปลือกแบบไม่มีลับลมคมใน ลูกค้าที่มาติดต่อก็สบายใจ เพราะเขายึดหลักการทำงานว่าต้องติดต่อได้ มีที่อยู่และตัวตน ไม่มีความลับ แม้แต่หน้าตาก็ยังเปิดเผย เขาพูดถึงการเริ่มต้นสนใจทำอาชีพนี้ว่าเพราะชอบความท้าทาย เป็นงานที่ทำแล้วสนุก ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ทุกครั้งที่ไปพื้นที่ตามงานที่ถูกว่าจ้างงานที่เขาทำเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม สังคมมีปัญหาอะไร สิ่งนั้นก็จะสะท้อนกลับมา อย่างตอนนี้สังคมมีปัญหาเศรษฐกิจ งานที่ได้รับการว่าจ้างก็จะเป็นปัญหาทางด้านฉ้อโกง การตามหนี้ ตามคนหนีคดีทางด้านเศรษฐกิจ แต่เมื่อสังคมไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะกลายเป็นปัญหาครอบครัวแทน
“งานแรกที่ผมทำเป็นเรื่องสะเทือนใจมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตามสืบสามีที่มีเมียน้อย เขาจ้างเราทำ แต่เขาไม่บอกว่าจะเอาไปทำอะไร เขาก็ให้เราไปทำ ซ้ำไปซ้ำมาจนเราเบื่อที่จะทำ เราก็เลยถามเขาว่าถามจริงๆ ว่าทำไปเพื่ออะไร เขาก็ตอบว่าเขาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวอยู่ได้อีกไม่นานก็จะตาย สิ่งที่ทำไปก็เพื่อทำพินัยกรรมให้ลูกสาวดูว่าทรัพย์สมบัติที่แม่ยกให้ อย่าให้พ่อ เพราะพ่อเป็นคนไม่ดี”
การทำงานอาชีพนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะทุกงานที่ออกไปอันตรายหมด บางครั้งเป้าหมายที่เขาต้องสืบเป็นกลุ่มทหาร ตำรวจ หรือมิจฉาชีพตัวฉกาจ เขาก็ต้องใช้ความระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้นเวลาออกไปทำงาน
“อันตรายมันมีทุกงานที่เราไปทำครับ อย่างกรณีเราไปตามเขา พอเข้าไปดูแล้วมันเสี่ยง โอกาสพลาดมีเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ผมก็จะไม่ทำ กลับก่อนแล้วเดี๋ยววันหลังมาใหม่ อาชีพเราคือการนั่งรอใบไม้หล่น คุณไม่รู้หรอกว่ามันจะร่วงเมื่อไร เราก็จะต้องนั่งรอ พื้นฐานหรือเรียกว่าหลักนิยมของคนร้าย ซึ่งมันเป็นทฤษฎี ไม่ใช่กฎ แต่ละคนเวลาจะเริ่มโกง มันจะทำทางก่อน คือจะปล้นต้องคิดหาทางหนีก่อน พวกนี้เวลามันจะเข้ามาโกง มันต้องคิดก่อนว่าเวลาโกงเสร็จ มันจะหนีไปยังไง มันก็จะพยายามปิดบังตัวเอง ที่อยู่จะไม่ตรง อะไรที่ให้ไว้ ที่อยู่ที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่มีทางตรงครับ ถึงตรงก็ไม่จริง ปกติที่คนร้ายพลาดเพราะเลินเล่อเอง”
คุณเดวิดยังแนะนำอีกว่าการที่จะเป็นนักสืบได้นั้น ต้องไวต่อความรู้สึกของคนอื่น ต้องนึกให้ได้ว่าถ้าเหตุการณ์มันเป็นแบบนี้ ในใจคนร้ายคิดอะไรอยู่ เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ได้ ก็ต้องมีไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เพราะอะไรมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ ที่สำคัญต้องเป็นคนไม่เรื่องมากในการใช้ชีวิต
ส่วนในเรื่องของราคาว่าจ้างนั้นมีอยู่หลายแบบหลายราคา ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการอะไร ถ้าสืบพฤติกรรมของคน ก็ต้องรู้ว่าคนๆ นั้นในหนึ่งวันทำอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ประเด็นของงานคืออะไร ลงลึกแค่ไหน ราคาตั้งแต่หลักหมื่นขึ้นไป แล้วแต่ความเสี่ยง และความยากง่ายของงาน
“อาชีพนี้ถ้าคุณเอาไปใช้ในทางที่ผิด มันก็สามารถไปเป็นมิจฉาชีพได้สบายเลย เพราะฉะนั้นการเป็นนักสืบต้องมีจรรยาบรรณด้วยนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมาเป็น เพราะแต่ละคนสามารถแสดงละครได้หลายแบบ นักสืบทุกคนมีความเก่งนะ แต่คุณธรรมของแต่ละคนมันมีไม่เท่ากัน ต้องสื่อสัตย์ต่ออาชีพ อย่าไปคิดที่จะขายงานตัวเอง เผางานตัวเอง ต้องออกมาร่วมสร้างให้อาชีพนี้มันมีมาตรฐานจริงๆ ถ้าเมื่อไรที่ยังเผางานตัวเองอยู่ นอกจากอาชีพนี้จะเป็นสีเทาแล้ว มันก็จะเริ่มดำและไหม้ แล้วเริ่มหมดจากสังคมไป”
ชายผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ : ธีร์ ไชยเดช
การที่นักบินขับเคลื่อนเครื่องบินไปในอากาศซึ่งเต็มไปด้วยเมฆหมอก แต่ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยที่ไม่ชนกับเครื่องบินอีกลำบนเส้นทางเดียวกัน ก็เพราะมีบุคคลที่เรียกว่า “ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ” คอยดูแลจัดเส้นทางให้ เปรียบเสมือนกับตำรวจจราจรทางอากาศก็ว่าได้
“ผมเริ่มทำงานนี้เพราะพ่อผมบังเอิญเห็นในหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยต้องการรับสมัครพนักงานข่าวการบิน ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้เลยว่างานนี้เป็นอย่างไร สมัยก่อนนั้นย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อนอาชีพนี้ เขาจะรับวุฒิปริญญาตรี แต่ไม่ยึดติดว่าจะต้องจบมาจากศูนย์ฝึกการบิน จะจบสาขาอะไรก็ได้ โดยที่ขอให้มีภาษาอังกฤษกับคำนวณ
“พอผมสอบเข้ามาได้ ก็เข้ามาเรียนเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมดเกี่ยวกับทฤษฏีการบิน ประมาณ 3-6 เดือน หลังจากนั้นถึงได้ลงมาปฏิบัติงาน ก็เลยเพิ่งจะทราบว่าพนักงานข่าว
การบินก็คือพนักงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลการบินเบื้องต้นจากสายการบินต่างๆ ทั่วโลกที่จะบินเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมันไม่ใช่แค่ข้อมูลการบิน แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ เราจะได้รู้แล้วเอาไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง งานนี้จึงเป็นงานที่กดดัน ความผิดพลาดต้องเป็นศูนย์ และถ้าเกิดข้อผิดพลาดก็ต้องแก้ให้ทัน ไม่ฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาเยอะมาก
“หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้มีการเปิดสอบเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ ผมก็เลยไปสอบเพื่อไต่เต้า มันก็เริ่มต้องใช้กึ๋นมากขึ้น เราต้องเริ่มพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเยอะขึ้น หลังจากนั้นประมาณ1ปีก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศเต็มตัว พอได้มาอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เพราะมันต้องมีการสอบตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นที่เราผ่านมานั้น ทุกอย่างล้วนไม่ปล่อยให้เราเดินข้ามไปง่ายๆ มันต้องมีขั้นตอนหลากหลายขั้นตอน ต้องไปตรวจร่างกายทุกปี ต้องมีการตรวจด้านจิตเวช และด้านการตรวจตาบอดสี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา ทำให้บางคนไม่สามารถไปสู่จุดหมายปลายทางได้
“ผมบอกได้เลยครับว่างานนี้เป็นงานที่หนักกว่านักบิน เพราะ1 ชั่วโมงมีเครื่องบินหลายสิบลำ แล้วก็พูดกันไม่หยุด เพราะฉะนั้นเรารับผิดชอบเขามากๆ งานควบคุมจราจรทางอากาศถือว่าเป็นงานที่เครียดที่สุดติดอับดับ1ใน3ของโลกมันเป็นงานที่เหมือนกับทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าผิด มันจะส่งผลถึงทุกอย่าง ถึงอาญาด้วยซ้ำไป งานนี้เราเลยจะทำ 2 วัน พัก 2 วัน ฟังดูเหมือนดี เหมือนเท่ แต่จริงๆ แล้วเพราะว่าเขาต้องการที่จะให้เราได้พักผ่อน ต้องการให้ได้ไปปลดปล่อย เพราะอย่างที่ผมบอกไว้ว่างานนี้เป็นงานที่เครียดและหนักหน่วงจริงๆ
“สิ่งที่สำคัญของงานนี้ก็คือต้องทำให้ตัวเองมีวินัย เพราะงานนี้เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบมากๆ เป็นงานที่จะต้องตรงเวลา ต้องมาทำงานก่อนเวลาเสมอ ต้องดูแลชีวิตตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเราทำงานไม่เหมือนคนอื่น เป็นงานที่แทบจะไม่มีการบ้าน เป็นงานที่ยังไม่มี
วันไหนซ้ำกันเลย เครื่องบินบินมาผิดนาทีเดียวทุกอย่างพลาดหมด ไม่ใช่งานที่ใครสักคนจะเข้ามานั่งคุมบังเหียนอยู่อย่างนี้ง่ายๆ กว่าจะเดินมาถึงต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่ายากและหินสุดๆ ตรงนี้คือความภูมิใจที่ว่าเราพิชิตความหนักหน่วงของสายอาชีพเราไว้ได้”
นักสร้างแรงบันดาลใจได้ภายใน 1 วัน! : วันชัย ประชาเรืองวิทย์
อาชีพนักสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าใครได้ยินอาชีพนี้ครั้งแรก จะรู้แปลกๆ ว่าการที่คนเราล้มเหลวในชีวิต ท้อแท้ ผิดหวัง หรืออยากพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จ เราต้องพึ่งนักสร้างแรงบันดาลใจด้วยหรือ อาชีพนี้มีไม่กี่คนที่ทำได้ เพราะอย่างแรกจะต้องมีบุคลิกเฉพาะตัวที่ดูแล้วน่านับถือ พูดจูงใจคนได้ และที่สำคัญต้องสามารถปลุกพลังในตัวผู้ฟังได้จริง
ก่อนจะมาเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจที่มีคนฟังนับพันนับหมื่นคนอย่างเช่นทุกวันนี้ อาจารย์วันชัย ประชาเรืองวิทย์ ยอมรับว่าเขาเคยล้มเหลวในชีวิตมาก่อนจากการเล่นหุ้น เขาเล่นในลักษณะที่เหมือนกับเล่นการพนัน ทุ่มสุดตัวโดยไม่ทันยั้งคิดว่าการลงทุนมีความเสี่ยง จนในที่สุดแทบหมดตัว เหลือเพียงบ้านหนึ่งหลังกับครอบครัวเท่านั้น ช่วงที่เขาสิ้นหวัง เขาจึงหาหนังสือแนวให้กำลังใจมาปลอบประโลมจิตใจตัวเอง ซึ่งก็ได้ผล และก็เหมือนจะเป็นจุดเล็กๆ เมื่อมีกำลังใจขึ้น ภรรยาเห็นว่าไม่มีอะไรทำ แต่ทราบดีว่าเขาเล่นหมากล้อมเก่ง ก็เลยให้ลองเขียนวิธีเล่นหมากล้อมเพื่อทำออกมาเป็นหนังสือ
ต่อมาอาจารย์ได้ทำหนังสือแนวให้กำลังใจขึ้นมา พอศึกษาเรื่องการให้กำลังใจคนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเชี่ยวชาญเรื่องนี้ขึ้นมาโดยปริยาย จนมีอยู่วันหนึ่งตัวแทนบริษัทประกันแห่งหนึ่งสั่งซื้อหนังสือเล่มหนึ่งถึง 200 เล่มเพื่อเอาไปให้ลูกน้องที่หน่วยงานอ่าน อาจารย์จึงบอกกับผู้ซื้อหนังสือรายนั้นว่าเขาอ่านมาหลายพันรอบแล้ว อยากจะขออาสาไปพูดให้ฟัง นั่นจึงนับเป็นครั้งแรกที่เขาได้พูดบนเวที แม้การพูดของเขาจะออกมาราบรื่นเป็นไปได้ด้วยดี แต่ผลตอบรับที่เอาไปใช้งานจริงยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เขาจึงหาแนวทางใหม่ในการพูดครั้งต่อไป
“มันก็เลยเป็นที่มาของการทำ Workshop มากขึ้น ของผมเข้ามานั่งในห้องสัมมนาแค่ 5 นาที ก็จะเก็บเก้าอี้หมดเลย ทำให้เป็นห้องโล่งๆ พอเป็นห้องโล่งๆ พวกเขาก็ไม่ต้องมานั่งคิดมากว่าคุณจะนั่งแถวหน้าหรือแถวหลัง เพราะมันไม่มีเก้าอี้ให้คุณนั่ง จากนั้นเราก็จะเริ่มทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่ว่ามันก็ไม่ใช่กิจกรรมเพื่อที่จะละลายพฤติกรรม แต่เป็นการออกแบบให้ตรงกับเนื้อหาที่เราต้องการสอน เราเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรงเพื่อที่ว่าเขาจะอ้างไม่ได้ว่าทำไม่เป็น เพราะเขาได้ทำไปแล้ว
“พอเขาทำไปแล้ว คราวนี้ทุกอย่างมันก็จะเปลี่ยนไป เพียงแค่คุณไปฝึกฝนให้เชี่ยวชาญและอยู่ตัวมากขึ้น เหมือนกับคุณว่ายน้ำเป็น คุณถีบจักรยานเพิ่งเป็นหมาดๆ คุณต้องกลับไปถีบซ้ำ เพราะคุณเพิ่งได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เขาก็จะได้ไอเดียว่าทำก็ทำไปแล้ว ที่เหลือก็คือการขัดเกลาทักษะให้ดีขึ้น นี่ก็คือสิ่งที่ผมทำการสอน ในแนวทางที่ถือว่าในประเทศนี้หรือทั่วโลก ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ให้ Workshop มากกว่าผมอีกแล้ว หลักสูตรผมก็มากด้วย ความรู้ก็มากด้วย”
“ทุกเรื่องในโลกนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยา เพราะคำว่า The Mind แปลว่าจิตใจ ซึ่งมันหมายถึงความคิด ไม่เหมือนเวลาที่คุณพูดคำว่าใจ แต่ The Mind มันหมายถึง สมองวิธีคิด คนไทยเขาเรียกว่า จิตใจ แต่คำว่าจิตใจ จริงๆ แล้วเราจะเน้นไปที่สมอง ระบบความคิดของมัน คุณใช้เวลาแค่ 10 วันเพื่อมาเรียน แล้วคุณจะเก่ง ตัวคุณเองก็สามารถใช้ทรัพยากรภายในตัวคุณได้ดีขึ้น เหมือนกับคุณซื้อไอโฟน 4 มาคุณใช้ 3 ฟังก์ชั่น แต่มันมี 1,000 ฟังก์ชั่น แต่บางตัวนั้นคุณไม่เคยอ่าน คุณก็ค่อยๆ คลำไป ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มันเหมือนกับตัวคุณมีคู่มือในการใช้ที่ชัดเจน ถ้าคุณรู้จักตัวเองมากขึ้น คุณก็จะใช้ตัวคุณเองได้อย่างมหาศาล”
คนทำโมเดลอาหาร : สุภาพ นาคพงศ์พันธ์
หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดาเมนูอาหารที่อยู่ในตู้กระจกตามร้านอาหารสามารถยั่วยวนให้คุณเกิดอาการหิวขึ้นมาไม่รู้ตัวได้ นั่นคือหนึ่งในศิลปะแห่งความสวยงามสมจริงที่มีอิทธิพลกับคนเรามากที่สุด และสิ่งที่เราเห็นในตู้กระจกนั้นก็เกิดจากความคิดและฝีมือของคนทำโมเดลอาหารและวันนี้เราได้ “คุณสุภาพ นาคพงศ์พันธ์” ผู้คิดริเริ่มทำโมเดลอาหารแบบญี่ปุ่นขึ้นมาในประเทศไทยเป็นตัวแทนของอาชีพนี้มาบอกเล่าถึงรายละเอียดของงานงานนี้ให้เราฟัง
“เริ่มแรกจริงๆ แล้วผมทำงานเกี่ยวกับไฟแนนซ์ แต่โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบงานปั้น โดยเฉพาะของจิ๋ว เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์และงานปั้นขนาดเล็กหลากหลายชนิด จนได้มีโอกาสไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในการเดินทางไประเทศญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นการจุดประกายไอเดียในธุรกิจโมเดลอาหารให้กับผม ในขณะนั้นที่ญี่ปุ่นกำลังนิยมทำโมเดลอาหารกันมากๆ ผมก็เลยกลับมาลองทำดู แล้วส่งไปให้เพื่อนขายที่ญี่ปุ่น ปรากฏว่ามันขายได้ ขายดีด้วย”
การทำโมเดลอาหารแต่ละครั้งนั้นมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องอาศัยความชำนาญและความใจเย็นงานแต่ละชิ้นจึงจะออกมาสวยงามเสมือนจริง
“วัสดุหลักๆ ที่ใช้ในการทำส่วนประกอบต่างๆ ก็คือ ดินญี่ปุ่น เรซิ่น ยาง และพาราฟินที่ใช้ในการทำน้ำซุปหลากชนิด ส่วนสีสันที่ใช้ จะเป็นสีอะคริลิกในการพ่นสเปรย์ สีน้ำมันสำหรับผสมในดินปั้นและเรซิ่น ซึ่งต้องค่อยๆ ผสมสี นวดคลึงกับดินปั้นจนได้โทนที่เหมือนของจริง รวมทั้งแล็กเกอร์ที่ใช้เคลือบให้อาหารมีความแวววาวน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งผมจะใช้หลากหลายของวัตถุดิบที่ทำแบบไม่เหมือนกัน เรียกว่าไม่มีข้อจำกัดเลย ส่วนความเหมือนกับของจริงผมก็คิดว่ามันใกล้เคียงนะ เพราะเราไม่ได้ใช้แค่วัตถุเดียว เพราะของหนึ่งชิ้นพอทำออกมา มันอาจจะไม่เหมือน มันก็ต้องเปลี่ยนวัตถุดิบ เราก็ต้องมาคิดว่าอะไรมันทำได้ ลองสรรหาไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก ใช้ความใจเย็นและความประณีตกับมัน”
โมเดลอาหารปลอมที่สามารถทำออกมาได้ง่ายที่สุดจะเป็นลูกชิ้นที่เน้นด้านการจัดเรียงเพื่อความสวยงาม ส่วนเมนูสุดหินก็คืออาหารต่างประเทศที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
“อาหารต่างประเทศนั้น ความยากมันเกิดจากเราไม่รู้โครงสร้างของอาหารว่าให้สีสันแบบไหน อย่างไรถึงจะได้อารมณ์น่ากิน อุณหภูมิสีของอาหารอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเราไม่คุ้นเคยก็ยากที่จะทำให้สมจริง แม้จะมีแบบจากลูกค้าเป็นรูปถ่ายมาให้ก็ตาม แต่ถ้าเป็นส่วนประกอบอื่นๆ จะไม่ยาก เพราะเราใช้การทำบล็อกขึ้นมาได้ แต่ถ้าอันไหนทำเองไม่ได้จริงๆ ก็จะขอวัตถุดิบของจริงมาแกะบล็อกใหม่เลย
“สำหรับระยะเวลาในการทำ ถ้าเป็นเมนูทั่วๆ ไป จะใช้เวลาไม่นาน เพียง 1-2 ชั่วโมงต่อชิ้นเท่านั้น เนื่องจากมีการทำส่วนประกอบหลักๆ ที่ต้องใช้กับทุกเมนูอย่างผักชี ถั่วงอก พริก เตรียมพร้อมเรียงรายไว้เหมือนห้องครัวย่อมๆ เวลาส่วนใหญ่จึงใช้ไปกับการจัดเรียง ส่วนเมนูแปลกๆ ที่ต้องทำบล็อกขึ้นมาใหม่ก็จะใช้เวลาทำนานถึง 3-4 วัน ส่วนเรื่องราคาก็แล้วแต่ชิ้นงาน ต่ำสุดก็หลักร้อย สูงสุดก็หลักหมื่น”
ถึงแม้ว่าคุณสุภาพจะไม่ได้มีวิชาความรู้ทางด้านงานศิลปะมาก่อนเลย แต่ก็ยังสามารถทำงานที่ต้องใช้ฝีมือขนาดนี้ได้ ตัวเขาจึงรู้สึกภาคภูมิใจในธุรกิจของเขาเป็นอย่างมาก
“ผมเคยทำงานแบงค์มาก่อน ไม่ได้เรียนด้านศิลป์ คนอื่นที่ทำเขาอาจจะเรียนสายช่างสายศิลป์มา ส่วนผมเรียนสายวิทย์ แต่ผมเป็นคนที่ชอบลอง รู้สึกทำแล้วสนุก อันนี้ทำไม่ได้ อันนี้ต้องทำให้ได้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องลองไปเรื่อยๆ ได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งคนอื่นเขารู้เขายังทำไม่ได้อย่างเราเลย ผมคิดว่าไม่ว่าใคร ถ้าสนใจที่จะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ลองคิดลองครีเอทแล้วลองพยายาม ลองทำดู คนเรามันจะไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ถ้าเกิดว่าเราลงมือทำ เพราะคนส่วนใหญ่จะแค่คิดแต่ไม่ได้ทำ แต่ผมคิดแล้วลองทำ ทำผิดมันก็ผิด ทิ้งไป ทำใหม่ ผมไม่ซีเรียส เพราะคิดว่ามันคือประสบการณ์ เราไม่สามารถไปซื้อที่ไหนได้ ซื้อที่ตัวเอง แล้วประสบการณ์จะสอนเราเอง”
คนดูแลสัตว์น้ำ : ปณรรฆ ศรีวรรธนะ
ใครที่เคยได้เข้าไปดูการจัดแสดงสัตว์น้ำในสยามโอเชี่ยนเวิร์ล คงเคยเห็นการแสดงการให้อาหารปลาฉลามใต้น้ำ ผู้ชายคนนี้คือหนึ่งในผู้ที่รับหน้าที่ตรงนั้น
“ผมเริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่ผมเรียนอยู่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงที่เรียนอยู่นั้นผมได้มาสมัครเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ของสยามโอเชี่ยนเวิร์ลหลังจากนั้นเมื่อผมเรียนจบ หัวหน้าผมก็เรียกตัวผมมาทำงานประจำที่นี่ อาจจะด้วยตัวผมเองด้วยที่เป็นคนชอบเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์น้ำมาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันถึงได้ชอบมากจนขนาดต้องมาเรียนคณะประมง แล้วขวนขวายมาทำงานที่นี่”
“บางคนคนอาจจะถามว่าคิดดีแล้วเหรอที่มาทำงานกับสัตว์ที่น่ากลัวอย่างปลาฉลาม แต่ผมอยากจะบอกว่าปลาฉลามที่นี่น่ารักครับ และที่นี่เราก็มีการดูแลความปลอดภัยทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี อาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่ก็น้อย ซึ่งถ้าเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน มันก็จะไม่ทำร้ายเรา เพราะสัญชาตญาณของสัตว์ ถ้าเราไม่ไปทำร้ายมัน มันก็จะไม่ทำร้ายเรา อีกอย่างหนึ่ง งานนี้เป็นงานที่ต้องมีใจรัก แล้วจะทำให้เราสนุกกับงานที่เราทำอยู่
“การทำงานของผมในแต่ละวัน ผมต้องตื่นมาเข้างานตอน 7 โมงเช้า ต้องมาดำน้ำลงไปดูตรวจสภาพปลาก่อนที่อะควอเรี่ยมจะเปิด ต้องมาดูว่าปลาในแต่ละตู้เป็นอย่างไรบ้าง ภายในตู้มีสิ่งสกปรกอะไรบ้างหรือเปล่า ก็ต้องไปทำความสะอาดให้เรียบร้อย และให้อาหารตอนเช้า ปลาแต่ละชนิดก็กินอาหารไม่เหมือนกันบางตัวจะกินพวกเนื้อ บางตัวจะกินผัก ผลไม้ อย่างปลาฉลามก็จะกินปลาทู”
“ถ้าพูดถึงความภาคภูมิใจในอาชีพของผม ผมสามารถบอกได้เลยครับว่าภูมิใจในอาชีพตัวเองมาก ผมว่ามันแล้วแต่ว่าแต่ละคนชอบทำงานแบบไหน อย่างผมชอบดำน้ำ ชอบเลี้ยงปลา ก็มาทำงานเกี่ยวกับด้านที่ผมชอบ มันก็เลยทำให้ผมมีความสุขในการทำงาน
“ไม่ว่าใครจะคิดทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ขอให้รักและชอบในอาชีพนั้น อยู่กับมันแล้วมีความสุขก็ขอให้ทำไปเถอะครับ คนบางคนที่ทำอาชีพอะไรก็ตามในปัจจุบันนี้อาจจะไม่มีความสุขกับอาชีพของตัวเองก็เยอะแยะไป มันอยู่ที่ตัวเราเลือกเดินทางไปหาสิ่งที่ตนเองชอบมากกว่าครับ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
men.sanook.com
จากบทความข้างต้น อาจจะมีน้องคนไหนที่สนใจอาชีพดังกล่าว พี่จึงหยิบยกสาขาที่เกี่ยวข้อง มาฝากกันนะคะ
1. คนทุบตึก : สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมก่องสร้าง วิศวกรรมอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. นักสืบ : สาขาวิชาทางด้านที่เกี่ยวกับอาชญาวิทยา (criminology) , กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (criminal justice), หรือ สาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา และ รัฐศาสตร์ เป็นต้น
3. ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ : สาขาวิขาความปลอดภัยด้านการบิน หลักสูตร ATC Fast Track ของบริษัท วิทยุการบิน เป็นต้น รายละเอียดอาชีพ ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ เพิ่มเติม
คลิกที่นี่
4. คนทำโมเดลอาหาร : สาขาวิชาทางด้านศิลปกรรม
5. คนดูแลสัตว์น้ำ
: สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สัตวบาล เทคโนโลยีผลิตสัตว์ วิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ เป็นต้น รายละเอียดอาชีพ "
สัตวบาล" เพิ่มเติม คลิกที่นี่