สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ชี้O-NET และ GPAX ยังสำคัญในการสอบเข้ามหา"ลัย

UploadImage

รมว.ศึกษาธิการ โล่งใจ ผู้ปกครอง-เด็ก หนุนระบบคัดเลือกเข้ามหา’ลัย ใหม่ ยัน การใช้คะแนน โอเน็ตและ GPAX ยังมีความสำคัญ
จากแนวคิดที่จะให้มีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบและลดค่าใช้จ่ายของเด็ก ด้วยการเปิดระบบรับตรงกลางร่วมกันโดยให้ยื่นเคลียร์ริงเฮาส์ได้ 2 ครั้ง นั้น วันนี้ (29 ส.ค.)พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เท่าที่ฟังความคิดเห็นของมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ปกครองและเด็กส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ก็มีข้อห่วงใยว่า ระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์ไม่ได้นำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) มาเป็นองค์ประกอบ อาจทำให้เด็กไม่สนใจการเรียนในห้องและหันไปกวดวิชาได้ ซึ่งตนก็เห็นด้วยว่า โอเน็ตและ GPAX ยังมีความสำคัญ การเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีทั้ง 2 ส่วนอยู่ แต่จะเป็นอย่างไรคงต้องให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)ไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีนักวิชาการกังวลว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆจะรับเด็กไปหมดและมหาวิทยาลัย เล็กๆจะไม่มีเด็กมาเรียนนั้น ถ้าคิดเช่นนี้การศึกษาของมหาวิทยาลัยก็จะไม่พัฒนา ศธ.มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต้องรีโปรไฟล์ตัวเอง และสร้างจุดแข็งของตัวเองให้ได้ ไม่ใช่รับคนเน้นแต่ปริมาณไม่ได้คุณภาพ ถ้ารีโปรไฟล์ตัวเองและมีจุดแข็งที่สนองต่อความต้องการของประเทศ รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งในเร็วๆนี้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.จะเชิญกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมาหารือ ว่าจะเข้าร่วมระบบนี้หรือไม่ รวมทั้งมีปัญหาหรือผลกระทบจากระบบดังกล่าวหรือไม่ เพื่อจะได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามตนอยากจะให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อนำระบบใหม่มาใช้จะห้ามไม่ให้มหาวิทยาลัยแยกรับตรงเองหรือไม่ นั้นอาจจะยังมีอยู่บ้างในบางคณะที่จำเป็น อาทิ สถาปัตยกรรม แต่การกำหนดสอบในช่วงเวลาเดียวกันหลังเด็กเรียนจบม.6 จะทำให้เด็กต้องเลือก ไม่ใช่ตระเวนสอบทั้งปี 

“ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มที่ได้ตระหนักร่วมกันถึงปัญหาการรับตรง และพร้อมที่จะหันมาแก้ปัญหา ทั้งๆที่ทุกมหาวิทยาลัยมีกฎหมายของตัวเองสามารถที่จะดำเนินการเองได้ แต่ก็หันมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ส่วนที่สังคมห่วงใยว่านโยบายนี้อาจจะไม่ยืนยงนั้น ผมก็คิดอยู่ว่าจะทำให้มั่นคง โดยอาจจะออกเป็นกฎกระทรวง หรือขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์