สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เตรียมเฮ!!! กรมบัญชีกลางใจดีเพิ่มค่าเรียนบุตรให้ข้าราชการ (มีผลปีการศึกษา2559)

UploadImage

       น้องๆเคยตั้งคำถามไหมว่าเราต้องใช้เวลากี่ปีในการเรียน? คำตอบก็คือกว่า 20 ปีในการเรียน ต้องใช้เงินเท่าไหร่กันนะ ??? ไม่ใช้แค่ค่าเทอม ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆตามมาอีกมากมาย น้องๆคงเริ่มตั้งคำถามว่า "หนูยังเรียนอยู่ จะช่วยพ่อและแม่ได้อย่างไร"

       ถ้าหากผู้ปกครองน้องๆคนไหนประกอบอาชีพข้าราชการเตรียมเฮได้เลย >> ล่าสุดกรมบัญชีกลางใจดีเพิ่มค่าเรียนบุตร ประเภทและอัตราในการเบิกค่าบำรุงการศึกษา โดยจะปรับขึ้นทุกระดับการศึกษา มีผลตั้งแต่ปีการศึกษา 2559  

UploadImage

UploadImage
UploadImage
 

       นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมได้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนของบุตรข้าราชการที่สามารถเบิกได้ใหม่ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่เป็นผู้มีสิทธิได้เพิ่มขึ้น โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป

       ทั้งนี้ การปรับอัตราเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาของทางราชการและค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน โดยปรับขึ้นในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี เฉลี่ย 240-3,000 บาท เช่น อนุบาล สถานศึกษาของรัฐ เดิมเบิกได้ 5,100 บาท เพิ่มเป็น 5,800 บาท ถ้าเป็นสถานศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 11,940 บาท เพิ่มเป็น 13,600 บาท ระดับปริญญาตรี สถานศึกษาของรัฐเดิมเบิกได้ 22,000 บาท เพิ่มเป็น 25,000 บาท ระดับอาชีวศึกษาสายคหกรรม หรือคหกรรมศาสตร์ สถานศึกษาที่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 1,260 เพิ่มเป็น 1,400บาท สถานศึกษาที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 14,540 บาทเพิ่มเป็น 16,500 บาท ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอสถานศึกษาได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 6,370 บาท เพิ่มเป็น 7,200 บาท สถานศึกษาที่ไม่ได้รับการอุดหนุน เดิมเบิกได้ 21,440 เพิ่มเป็น 24,400 บาท

       อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวต่อว่า สำหรับสถานศึกษาของเอกชน ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) หรือเทียบเท่า ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000-30,000 บาท ตามประเภทวิชาหรือสายวิชา และหลักสูตรปริญญาตรี ให้เบิกจ่ายครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงของค่าเล่าเรียนปีการศึกษาละไม่เกิน 25,000 บาท ค่าเล่าเรียนที่ให้เบิกจ่ายได้จะต้องเป็นค่าธรรมเนียมการเรียนหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งสถานศึกษาเอกชนเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการหรือมหาวิทยาลัย

       นายมนัสกล่าวว่า ผู้มีสิทธิสามารถนำหลักฐานการรับเงินของสถานศึกษาของทางราชการและสถานศึกษาของเอกชนมาเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรจากทางราชการได้ โดยแจ้งให้ส่วนราชการรับทราบ ซึ่งจะเป็นไปตามรายการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรได้เพิ่มขึ้น ภายใต้ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนใหม่

“กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ” นายมนัสกล่าว

ที่มา : MATICHON ONLINE
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็ปไซต์มติชน คลิกที่นี่