ผมเคยเขียนลงบล็อกบ่อยๆเรื่องปัญหาของบุคลากรด้านไอทีไทยว่าเราขาดกำลังคนที่มีคุณภาพ และมองดูแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ถึงแม้ว่าภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ทางคณะรัฐมนตรีจะได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 จะมียุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยการ พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แต่ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนว่าจะมีแนวทางในกำลังดำเนินการอย่างไรใน แผน 20 ปี
ปัญหาด้านบุคลากรไอทีที่เป็นวิกฤติของอุตสาหกรรมอย่างยิ่งในเวลานี้พอสรุปได้ดังนี้
บริษัทด้านไอทีต่างๆไม่สามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าทำงานได้จำนวนบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพมีจำกัด หน่วยงานต่างๆต้องแย่งตัวกัน ทำให้เงินเดือนของบุคลากรบางกลุ่มอยู่ค่อนข้างสูง เด็กรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานด้านนี้ได้มีจำนวนจำกัด มักจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนงานบ่อยและขาดความอดทนค่านิยมของคนรุ่นใหม่นิยมที่จะประกอบอาชีพอิสระ และบางส่วนฝันที่จะเป็น Startup บริษัทด้านไอทีขนาดใหญ่มีจำนวนน้อยมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาบุคลากรจำนวนมากมาทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้นความเป็นไปได้ในการขยายหรือสร้างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานด้านไอทีจำนวนเป็นพันคนในประเทศ ย่อมเป็นไปได้ยากมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้
นักศึกษารุ่นใหม่ไม่นิยมเรียนด้าน Computer Science หรือ Computer Engineer เพราะเป็นสาขาที่ยากบัณฑิตด้านไอทีจำนวนมากไม่สามารถหางานตรงกับสาขาที่เรียนมาได้ เนื่องจากจบมาไม่ตรงกับความต้องการ มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดสอนสาขาไอที แต่ขาดคุณภาพเน้นที่ปริมาณเพื่อให้เห็นภาพว่า เรามีการผลิตบัณฑิตมากน้อยเพียงใด ผมขอเริ่มต้นด้วยการนำข้อมูลของคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่แสดงจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละสาขาดังรูปที่ 1 ซึ่งอาจแบ่งตามประเภทของกลุ่มสถาบันได้ดังรูปที่ 2 นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลของจำนวนนักศึกษาในสาขาต่างๆที่รับเข้ามาใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553-2557 ดังรูปที่ 3
รูปที่ 1 ข้อมูลการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขา ICT ปีการศึกษา 2553-2556 [ข้อมูล สกอ.]
รูปที่ 2 ข้อมูลการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขา ICT แยกตามกลุ่มสถาบันการศึกษา[ข้อมูล สกอ.]
รูปที่ 3 ข้อมูลการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา ICT ปีการศึกษา 2553-2557 [ข้อมูล สกอ.]
จากข้อมูลที่นำเสนอจะเห็นว่าบัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศส่วนใหญ่จะมาจากสาขา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่บัณฑิตด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สามารถจะพัฒนาซอฟต์แวร์และเข้าสู่อุตสาหกรรมไอทีได้มีจำนวนน้อยกว่ามาก และที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ผลิตบัณฑิตสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจจะมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่จำนวนมากหากพิจารณาดูจากเนื้อหาหลักสูตรแล้วคงมีเพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์หรือทำงานในอุตสาหกรรมได้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราสังเกตุจากข้อมูลในรูปที่ 3 คิอจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ในสาขาไอซีทีมีน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะการเกิดของประชากรน้อยลง แต่ขณะเดียวกันค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ก็สนใจงานทางนี้น้อยลงเพราะรู้ว่าเป็นเรื่องยากและได้รายได้ไม่สูงมากในระยะแรก ข้อสำคัญเด็กไทยจะอ่อนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเรียนด้านไอซีที
นอกจากนี้หากพิจารณาดูข้อมูลด้านบุคลากรจาก TDRI จะทราบว่าประเทศไทยมีพนักงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไม่เกิน 40,000 คน ดังรูปที่ 4 ซึ่งถ้าดูจำนวนบัณฑิตที่จบมาในสาขานี้จะไม่แปลกใจที่พบว่า จำนวนมากไม่เข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่าแต่ละปีมีเพียงแค่ไม่กี่พันคนที่จะทำงานได้
รูปที่ 4 จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์[ข้อมูล TDRI]
และหากเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาเราก็จะพบว่ามีเพียงจำนวนน้อยมากที่มีความสามารถที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งผมเคยเขียนไว้ว่าเราสามารถ
- กลุ่ม Top คือสถาบันที่มีสาขาวิชาที่มีนักศึกษาพร้อมที่จะเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์กลุ่มนี้มีไม่เกิน 10 แห่ง กลุ่มนี้นักศึกษาส่วนมากเก่งจำนวนรวมกันอาจประมาณไม่เกิน 1.000 คน แต่พบว่าจำนวนมากเมื่อจบออกมาก็ไม่ได้ทำงานด้านไอที และหลายๆคนไปศึกษาต่อสาขาอื่น
- กลุ่มระดับกลางอาจมีประมาณ 20 แห่ง ซึ่งจะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพพอใช้ได้ในห้องประมาณ 20-30%ซึ่งจำนวนคนเหล่านี้มีประมาณรวมกันซัก 1,000 คน แต่ที่เหลือก็ไม่เก่งพอและขาดพื้นฐานที่ดี
- กลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นสถาบันส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จะมีนักศึกษาที่มีคุณภาพน้อยมาก บางทีทั้งห้องหานักศึกษาที่พอจะทำงานและเรียนทางด้านไอทีไม่เกิน 3-5 คนในชั้นเรียนจากจำนวนที่กล่าวมาจะเห็นว่ารวมๆต่อปีเรามีบัณฑิตที่พร้อมจะเข้าสู่วิชาชีพประมาณ 2 พันคนแต่เราเล่นผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมาเป็นหมื่น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหรอกครับว่าทำไม บัณฑิตจำนวนมากไม่มีคุณภาพ ไม่เก่ง และบางทีเราก็ได้ยินบ่อยๆว่าจบไอทีเขียนโปรแกรมไม่เป็น บางครั้งก็เป็นแค่ Superuser ทั้งนี้บัณฑิตในในกลุ่ม Top บางคนอาจไม่ได้พร้อมทำงานทันทีแต่พอเขามีพื้นฐานที่ดี แต่พวกเขาก็พร้อมจะปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเด็กเก่งคือแนวคิดที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนงานง่าย ความซื่อสัตย์และจริยธรรมที่น้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมที่เปลี่ยนไปและเขาเห็นแบบอย่างที่ไม่ดี ที่สำคัญกระแส Startup คงจะทำให้เขาอยากออกไปทำอะไรเอง สุดท้ายคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อาจล้มเหลวและกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ได้เพราะไม่ได้เข้าใจการทำงานจริงมาก่อนที่จะออกไปทำงานอิสระและเข้าสู่อุตสาหกรรมช้าไป
จากที่กล่าวมาทังหมดนี้ วิกฤติของอุตสาหกรรมอยู่ที่เราไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับข้อมูลและตัวเลข เราไปสร้างภาพและการตลาดว่าเราจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้ เราคิดว่าเรามีบุคลากรที่เก่ง ซึ่งจริงๆมีน้อยมาก เราพยายามจะบอกว่าเด็กเราจบใหม่เก่งไปเป็น Startup ได้ ทั้งๆที่มันจะเป็นไปได้ยังไงละครับในเมื่อเด็กเราอ่อนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บัณฑิตเราเขียนโปรแกรมไม่เป็น มีบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนไม่เกิน 2 พันคนต่อปี ถ้าจะมาทำธุรกิจเองก็คงรอดเพียงไม่กี่รายและยากที่จะ Scale เปิดบริษัทขนาดใหญ่ได้เพราะไม่มีทางที่จะหาคนได้ ทางแก้ก็คือยอมรับความจริงและวางแผนสร้างคนในอนาคต
เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านนี้ตามแนวทางทีถูกต้อง ถ้าต้องการคนไอทีจำนวนมากๆในระยะนี้เราอาจต้องไปทำในต่างประเทศหรือต้องออกกฎหมายให้เอื้อต่อคนไอทีต่างชาติ มาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้นเรามีกลุ่มเด็กเก่งๆจำนวนหนึ่งที่กำลังจะสร้างธุรกิจตัวเอง พัฒนาโปรแกรม เราต้องส่งเสริมคนเหล่านี้ให้เขาไปสู้บนเวทีโลก แต่เมื่อเขาต้องการขยายบริษัทต้องการโปรแกรมเมอร์จำนวนมากๆเราอาจต้องให้เขาเอาต่างชาติมาช่วยงาน และหา Mentor จากต่างชาติ จนกว่าเราจะพร้อมต้องหยุดกระแสเพ้อฝันว่าเรามีคน เด็กเราเก่งจะส่งเสริม Startup จำนวนเป็นพันเป็นหมื่นต่อปี ทั้งๆที่เด็กเราจบมาทำงานได้ยังมีเพียงแค่หลักพันต้นๆ และพร้อมที่ทำงานและเก่งจริงๆเผลอๆแค่หลักร้อยต้นๆเราต้องลดการรับนักศึกษาเข้าเรียน ปีหนึ่งรวมกันไม่ควรเกิน 4-5 พันคน และต้องปิดหลักสูตรทางด้านนี้ในหลายๆสถาบันครับ เพื่อลดปัญหาการมีบัณฑิตจบออกมามากอย่างขาดคุณภาพ บางสาขาเช่นคอมพิวเตอร์ธุรกิจควรจะปิดไปได้แล้วเราต้องปฎิรูประบบการศึกษากันใหม่ พัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ อาจต้อง ฝึกอบรมอาจารย์กันใหม่ และต้องส่งเสริมให้ทำ R&D รวมถึงการเรียนการสอนทำหรับเทคโนโลยีใน 10-15 ปีข้างหน้า หากเราต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ต้องวางแผนในระยะยาว ส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสคร์ ตั้งแต่เด็กๆครับ ต้องใช้เวลา 15 ปีเป็นอย่างน้อยในการสร้างคนรุ่นใหม่ออกมา
เครดิต อ. ธนชาติ นุ่มนนท์