เลขาธิการ CHES ชี้คุรุสภาจัดสอบครู ก่อนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะเปลี่ยนวิธีคัดเด็กโดยทดลองสอนก่อนเรียนครู ชู “ฟินแลนด์” ไม่มีสอบขอรับตั๋วครู แต่เน้นการคัดกรองจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่เข้าเรียน
วันนี้ (13มิ.ย.) ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการคุรุสภา มีมติปรับระบบการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ โดยผู้ที่ขอรับใบอนุญาตฯ ต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะจากคุรุสภา 3 ด้าน คือ1.สอบวัดความรู้วิชาชีพครู 2. สอบวัดทักษะการเรียนการสอน และ3.สอบสัมภาษณ์ เพื่อดูทัศนคติความเป็นครู นั้น ตนเข้าใจว่าคุรุสภาต้องการแก้ไขปัญหาคุณภาพครู แต่วิธีดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราควรแก้ปัญหาตั้งแต่ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรครู โดยต้องมีการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์เชิงลึก หรือ ทดลองให้สอน เพื่อดูว่าคนที่จะมาเป็นครูนั้น มีทัศนคติ หรือ มีแววความเป็นครูหรือไม่ เพื่อเป็นการคัดกรองตั้งแต่เริ่มต้น และควรจำกัดจำนวนรับด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาเรียนถึง 5 ปี และต้องมาสอบรับใบอนุญาตฯ สุดท้ายก็อาจจะตกงานอีกเพราะผลิตออกมามากเกินไป
“ ขณะนี้การคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตรครู จะใช้การสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์ทั่วไปเท่านั้น ที่สำคัญแต่ละปีมหาวิทยาลัย จะเปิดรับนักศึกษาสายครูจำนวนมาก บางแห่งเปิดรับถึงปีละ1,000 คน ทั้งนี้ จากไปดูงานที่ประเทศฟินแลนด์ ทำให้ทราบว่าฟินแลนด์ ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เงินเดือนสูง มั่นคงในชีวิต ที่สำคัญคนที่เรียนจบสายครูไม่ต้องมาสอบ เพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีก เนื่องจากมีการคัดกรองเด็กอย่างดีก่อนที่จะเข้ามาเรียนจึงไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ประเทศไทยก็น่าจะเน้นการคัดกรองเด็กตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาในวางระบบการสอบรับใบอนุญาตฯ ต้องมาเสียเงินสอบ และต้องมาไล่จับพวกปลอมใบอนุญาตฯอีก ” ผศ.ดร.พัทธนันท์
ขอขอบคุณข้อมุลจาก :
เดลินิวส์