หลังกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกมาเปิดเผยข้อสอบพร้อมเฉลยเพื่อใช้เป็นทิศทางการเรียนการสอน หวังให้ผลสอบของนักเรียนดีขึ้น แต่กลับพบเนื้อหาที่ผิดเพี้ยน ทางด้านอดีตบอร์ดผู้บริหาร สทศ. ออกมาเผยว่าผู้ออกข้อสอบส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ออกข้อสอบตามดุลยพินิจของตนเองไม่ออกข้อสอบตามข้อเท็จจริง เมื่อเด็กทำไม่ได้จะเกิดความภูมิใจ แต่ทำให้ข้อสอบผิดเพี้ยนและกำกวม อีกทั้งเนื้อหาในแบบเรียนที่ไม่ได้ตรวจสอบ อ้างว่าแบบเรียนผิดพลาด ส่งผลให้เด็กและครูผู้สอนสับสนกับข้อมูลที่ต้องใช้อ้างอิงข้อมูลในการเรียนการสอน แนะนำให้รวมแบบเรียนสังคมให้เหลือเล่มเดียว ส่วนเรื่องข้อสอบผิดนั้นเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว สาเหตุเพราะละเลยไม่รอบคอบ เสนอว่าให้ตรวจสอบให้ละเอียดทั้งข้อสอบและแบบเรียน ถ้าใครผิดบ่อยควรขึ้นแบล็คลิสไว้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหา ยอมรับผิดและปรับปรุงเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น
สำนักข่าวไทยได้ขอข้อมูลจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา พบว่ามีสำนักพิมพ์ที่มีใบอนุญาตตีพิมพ์แบบเรียน 41 สำนักพิมพ์ แต่ส่งให้ตรวจสอบเพียง 19 สำนัก โดยก่อนออกแบบเรียนจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทุกขั้นตอน และเนื้อหาต้องได้มาตรฐาน ส่วนจะมีเทคนิคมากน้อยเพียงใด ไม่ได้จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบความผิดพลาดใดๆ แต่หลายสำนักพิมพ์ได้มีการปลอมแปลงใบอนุญาต แหล่งข่าวชี้ว่าสพฐ.ต้องเปิดให้แข่งขันกันอย่างเสรีในการพิมพ์หนังสือแบบเรียน แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องคิดวิเคราะห์ให้เป็น ไม่ใช่แค่ท่องจำตามตำรา
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กที่เป็นอนาคตและฟันเฟือนของชาติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษานั้นเดือดร้อน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับ ปล่อยให้เกิดซ้ำอีก การศึกษาไทยคงพัฒนาไปอย่างไร้ทิศทางแน่นอน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย