นักโปรแกรมเมอร์ (programmer) มือหนึ่งของโลกในอดีต คงต้องยกให้ “เอดา ไบรอน” ผู้ที่สามารถนำอัลกอริทึม มาเรียบเรียงเป็นชุดคำสั่งให้กับเครื่องคำนวณได้ในปี พ.ศ.2385 (ค.ศ. 1842) ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ในปัจจุบันหากขยายความถึง อาชีพ “นักโปรแกรมเมอร์" (programmer) อย่างง่ายๆ อาชีพนี้คงหมายถึง ผู้มีหน้าที่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในการโปรแกรมเฉพาะด้าน หรือผู้ที่สามารถเขียนโค้ดได้สำหรับหลากหลายซอฟต์แวร์
เส้นทางสู่ นักโปรแกรมเมอร์
“เกื้อกูล ตาเย็น” อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ รั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร บอกเล่าเรื่องราวบนเส้นทางสู่ความสำเร็จในอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”
“ในเวลานี้คงจะปฏิเสธความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีไม่ได้ว่า รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว อะไรๆ ก็จะต้องมีเรื่องราวของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องแทบทั้งนั้น ทั้งในด้านบวกและด้านลบ แน่นอนเทคโนโลยีมีคุณสมบัติทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้น และก็เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความเสียหายในหลากหลายด้าน ทำให้เกิดการทุจริตกับข้อมูล มีการโจรกรรมข้อมูล ปลอมแปลงข้อมูล ทำลายระบบ แทรกแซงระบบ แล้วใครละที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้
โปรแกรมเมอร์ หรือ อาจเรียกว่า “นักเขียนโปรแกรม" หน้าที่หลักของนักโปรแกรมเมอร์ทำหน้าที่ออกแบบโปรแกรม เขียนโปรแกรม ทดสอบโปรแกรม แก้ไขปรับปรุงให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้ใช้ต้องการ รวมถึงร่วมแสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะสำหรับทีมงาน ตลอดจนร่วมตัดสินใจกับผู้บริหาร แต่ผู้ที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์ นอกจากจะศึกษาหาความรู้ในสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น สาขาวิชาระบบสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านการเขียนโปรแกรม หรืออาจะเรียกว่า การเขียน ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนเปิดสอน"
การจะเป็นนักโปรแกรมเมอร์ได้นั้น แน่นอนที่สุด คือ ความรู้ความสามารถในการเขียนและพัฒนาโปรแกรม ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำงาน แต่เมื่อเริ่มงานในหน่วยงานแล้ว การเรียนรู้งาน ระบบงาน ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ
ถ้าจะถามว่า ควรไปทำงานที่ไหน คงต้องบอกว่า ปัจจุบันนี้เกือบทุกหน่วยงานมีแผนกหรือฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นคุณสมบัติอะไรบ้างที่ใช้ประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน
"อย่างแรก คือ ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ โดยเฉพาะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ อดทน สู้งาน และเอาใจใส่ สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี และที่สำคัญต้องมีความรู้เทคโนโลยี สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้ คล่องตัว แก้ไขสถานการณ์และปัญหาเฉพาะหน้าได้ และต้องเป็นผู้เรียนรู้ในทุกเรื่องตลอดเวลา
บทสรุปของเส้นทางสู่อาชีพโปรแกรมเมอร์ หรือวิชาชีพใดๆ ก็ตาม คงต้องยึดหลักของการพัฒนาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รู้จักปรับวิธีการทำงาน ปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ยืดหยุ่นแต่ไม่ยุ่งยาก ดังคำที่มีผู้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ต้อง “เก่งคน และเก่งงาน”
ที่มา : www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000014509
ภาพประกอบ : http://jj09.net/how-to-become-a-better-programmer-developer/, http://www.wegointer.com/