สอบเข้ามหาวิทยาลัย

"มธ." ร่วมกับ "สยามกลการ" สร้างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคต

UploadImage

                จากแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 10 ของโลก โดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2558 มีปริมาณ 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 1.76
 
                กอปรกับการที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น เพื่อยกระดับสู่การเป็น Next-Generation Automotive Industry โดยมีการพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบ และจัดทำต้นแบบ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และความแม่นยำสูง จึงทำให้ตลาดยานยนต์ไทยเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
 
                ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังพบอุปสรรคที่นอกเหนือจากเรื่องของทักษะและความเชี่ยวชาญ คือเรื่องทักษะด้านภาษา ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เพียง 5 แสนคน ในขณะที่การเติบโตของตลาดยานยนต์ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นที่ต้องการเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
 
                ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงมีการเปิดแผนพัฒนา มธ.ศูนย์พัทยา สู่การเป็น "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคต" เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยร่วมกับ "กลุ่มสยามกลการ" เปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ ที่ถือเป็นอาคารปฏิบัติการด้านวิศวกรรมยานยนต์ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย
 
UploadImage

                "ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มพัฒนาศูนย์พัทยา ในปี 2538 เพื่อเป็นศูนย์บริการทางวิชาการ ศูนย์วิจัย และพัฒนา และศูนย์การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมสัมมนาสำหรับพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
 
                ต่อมาในปี2556พื้นที่ในภาคตะวันออก มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น มธ. ในฐานะภาคการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมด้วยองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
 
                "เราจึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ เพื่อผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีศักยภาพ ที่เพียบพร้อมด้วยองค์ความรู้และทักษะวิชาชีพด้านยานยนต์ ตลอดจนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก"
 
                โดยมธ.ร่วมกับกลุ่มสยามกลการผู้ผลิต และจำหน่ายรถยนต์นิสสันในประเทศไทย ในการพัฒนาศูนย์ทดลอง และวิจัยยานยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการเรียนการสอน และอาคารสถานที่ พร้อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการสร้างอาคารหอพักนักศึกษา พร้อมห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ อีกด้วย
 
                "รศ.ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์" คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวเสริมว่า นอกจากเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ ที่ มธ. ศูนย์พัทยาแล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ยังเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษอีกด้วย
 
                การเรียนทั้ง 2 สาขา นักศึกษาจะได้เรียนภาคทฤษฎี ยังมีการฝึกปฏิบัติกับอุปกรณ์ที่ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายในอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรทันสมัยที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มสยามกลการ ประกอบด้วยเครื่องตัดขึ้นรูปชิ้นงานที่นำไฟฟ้าด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นลวด (CNC Wire Cut Electrical Discharge Machine) เครื่องตัดโลหะที่ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องกัด 3 แกนแนวตั้ง (Vertical Matching Center) เครื่องแปรรูป ชิ้นงานโลหะหรือวัสดุอื่น ๆ โดยใช้เครื่องมือเจาะ และเซาะร่องในแนวดิ่ง เป็นต้น
 
UploadImage

                "นอกจากการเรียนภายในมหาวิทยาลัยทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เรายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาสัมผัสกับประสบการณ์จริงมากยิ่งขึ้น โดยผ่านการฝึกงานกับบริษัทชั้นนำด้านยานยนต์หรือห้องปฏิบัติงานวิจัยในบริเวณใกล้เคียง อาทิ สยามกลการ โคมัทสึ (Komatsu) เจซีบี แอนด์ เอสเอ็มเอ็ม สยามกลการอะไหล่ (JCB & SMM สยามกลการอะไหล่) มาห์เล สยาม ฟิลเตอร์ (Siam Mahle Filter) รวมถึงการฝึกภาคสนาม (ภาคฝึกงานอาชีพ) และ Senior Project ซึ่งนักศึกษาจะต้องใช้เวลาฝึกปฏิบัติภายใต้การควบคุมของอาจารย์"
 
                "การเรียนการสอนส่วนใหญ่ 75% เป็นเนื้อหาพื้นฐานความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล และอีก 25% เป็นการเรียนวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมยานยนต์ที่ครอบคลุมภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ทั้งในด้านการออกแบบและด้านการผลิต โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 จะเรียนวิชาพื้นฐานที่ศูนย์รังสิต และย้ายมาศึกษาต่อที่ศูนย์พัทยาในปีที่ 3 และ 4"
 
                นอกจากนี้คณะยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย, มหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยนักศึกษาจะมีโอกาสเข้าสู่โครงการแลกเปลี่ยนทำให้นักศึกษามีความพร้อมด้านภาษา และมีทักษะการทำงานในต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
 
                ขณะที่ "ดร.พรเทพ พรประภา" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มสยามกลการนับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และยังคงดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
 
                "โดยเมื่อปี 2556 บริษัทมีการลงนามความร่วมมือโครงการ AUTO TU เพื่อเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ภาคภาษาอังกฤษ โดยใช้งบประมาณ 68 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ศูนย์พัทยา บนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร เพื่อให้เป็นศูนย์การผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมยานยนต์พื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น"
 
                "การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ในพื้นที่ภาคตะวันออกถือเป็นการเสริมแกร่งศักยภาพและความพร้อมบุคลากรในการขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของอาเซียนและระดับโลก"
                 
                นอกจากการสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ที่ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยี และเครื่องจักรอันทันสมัยแล้ว กลุ่มสยามกลการยังสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาในโครงการ AUTO-TU ใน 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 7 ทุน ทุนละ 150,000 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 3,150,000 บาท และยังจะให้ต่อเนื่องทุก ๆ ปีอีกด้วย
 
                ทั้งนั้นเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคตต่อไป




ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
ภาพจาก : driveautoblog และ motortrivia