สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ชูการศึกษาทางเลือกตอบโจทย์ประเทศ

UploadImage


“หมอประเวศ”ชี้การเรียนต้องมีหลายทางเลือก แนะตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ปลดล็อกปัญหาการศึกษา ขณะที่ “กนกพร” เผยการเรียนแบบโฮมสคูลได้รับความนิยมมากขึ้น ด้านภาคเอกชนเริ่มเปิดแหล่งเรียนรู้ผลิตพนักงานเอง


วันนี้ (19 พ.ค.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมเวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ในหัวข้อ “ทางเลือกของการเรียนรู้” ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบการศึกษาทางเดียวมานาน ทั้งที่การเรียนรู้ควรต้องมีหลากหลายทางเลือก เช่น เครือข่ายบ้านเรียน ที่กลุ่มพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษาตามความสนใจของผู้เรียน และการจัดการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน โดยขณะนี้ก็มีภาคเอกชนกว่า 40,000 แห่ง ที่เป็นการเรียนรู้ด้านอาชีพที่สำคัญ รวมถึงยังมีการเรียนรู้ในรูปแบบวิทยาลัยชุมชน ที่เน้นการเรียนรู้จากล่างขึ้นบน เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง 

จุดอ่อนของผู้ที่จบการศึกษาในระบบของไทย คือ ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน และไม่รับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาในเรื่องการศึกษามักติดขัดระเบียบทางราชการ หากเราสามารถรวบรวมผู้ที่มีศักยภาพในสังคมจากทุกภาคส่วน เพื่อตั้งเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ เพื่อการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และศึกษาแนวทางที่จะปลดล็อกในเรื่องต่างๆ ก็น่าจะทำให้การแก้ปัญหาเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นจริงได้

ศ.นพ.ประเวศ กล่าว ด้าน นางกนกพร สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน กล่าวว่า การจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพตามความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยสามารถจัดการศึกษาได้ถึง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้โรงเรียนในระบบที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการจัดการศึกษาทางเลือกสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีหน่วยงานของรัฐดูแลอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร ขณะที่ นางสุภาวดี หุตะสิง

ผอ.ศูนย์การเรียนเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจมีการแข่งขันกันสูง และต้องการพนักงานที่ตรงกับสายงานของบริษัท ขณะเดียวกันต้องการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส จึงได้จัดการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในสถานประกอบการ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) คือ วิชาพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีก และวิชาคหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ โดยเรียนวิชาการสัปดาห์ละ 2 วัน และฝึกปฏิบัติจริงที่ร้าน 4 วัน จบแล้วมีงานทำบรรจุเป็นพนักงานของเอสแอนด์พี ปัจจุบันเปิดรับเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว มีนักเรียนเฉลี่ยปีละ 200-250 คน ทั้งนี้ได้จัดทำระบบแนะแนว และการทดลองเรียนที่ร้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบของศูนย์การเรียน ทำให้ลดจำนวนการหลุดออกจากระบบของผู้เรียนได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เดลนิวส์