หน้าแรก เรียนภาษาเพื่อธุรกิจ ข่าว/บทความ

10 คำภาษาอังกฤษทรงอิทธิพลแห่งปี 2019 จาก The Guardian

วันที่เวลาโพส 10 พฤศจิกายน 62 00:08 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

เพราะเดี๋ยวจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง! บทความนี้เราชวนน้องๆ ทุกคนมาอัปเดตเทรนด์ข่าวคราวรอบโลกกัน เพื่อให้รู้ว่าสังคมกำลังพูดถึงและไปทางไหน ผ่าน "ภาษา" หรือ "คำ" นั่นเอง โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เดอะการ์เดียน (The Guardian) สื่อเจ้าใหญ่แห่งอังกฤษก็เริ่มคัดเลือก 10 คำภาษาอังกฤษทรงอิทธิพลแห่งปี 2019 จาก The Guardian 

ซึ่งหลายคำที่ได้รับคัดเลือกมานั้น ก็ดูเป็นคำทั่วไปที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ปีนี้มีความหมายใหม่หรือความหมายแฝงเพิ่มขึ้นมาให้เราได้เข้าใจและใช้ได้ตรงกัน และบางคำก็เพิ่งเกิดขึ้นจากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป มาดูกันดีกว่าว่าจะมีคำไหนกันบ้าง


People ประชาชน
ในช่วงหลายปีมานี้ คำที่ดูเหมือนธรรมดานี้ถูกใช้โดยแฝงอารมณ์เยาะเย้ยเสียดสีไปด้วย ผู้สนับสนุนเบร็กซิตอ้างเรื่อง ‘เจตจำนง’ (will) ของประชาชนอยู่ตลอด ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเรียกร้องให้มีการ ‘ลงมติของประชาชน’ (people’s vote) ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ก็พูดถึงกระบวนการถอดถอนตนเองว่าไม่ใช่กระบวนการถอดถอน แต่เป็นการก่อรัฐประหารที่จงใจเอา ‘อำนาจของประชาชน’ ไป

Prorogue ระงับประชุมสภา
คำนี้กลายเป็นคำสำคัญของปีนี้เมื่อรัฐบาลของบอริส จอห์นสันอ้างว่ารัฐสภาจำเป็นต้องยุติการประชุมจึงขอให้สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธระงับการประชุมสภาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ต่อมาศาลฎีกาตัดสินว่า การกระทำของจอห์นสันผิดกฎหมาย ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 กันยายน

Femtech เทคโนโลยีสำหรับสุขภาพผู้หญิง
ผู้หญิงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีบริษัทสตาร์ทอัปออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงมากมายในปีนี้ เช่น บลูทูธสำหรับฝึกฐานเชิงกราน หรือแอปพลิเคชั่นบอกวันไข่ตก ในไตรมาสแรกของปีนี้ เงินลงทุน 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ตลาด Femtech และคาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะทำรายได้ถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นปีแรก อย่างไรก็ตามก็มีผู้วิจารณ์ว่าทำไมต้องใช้คำนี้ขึ้นมาเฉพาะ เพราะของผู้ชายก็ไม่ได้แยกออกมา นอกจากนี้ทำไมจึงถือว่านี่ตลาดกลุ่มเฉพาะ ทั้งที่เพศหญิงซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของโลก

Sadfishing การโพสต์ปัญหาทางอารมณ์
คำนี้เริ่มจากนักเขียนในหนังสือพิมพ์ Metro เมื่อเดือนมกราคมที่อธิบายคำนี้ว่า หมายถึง พฤติกรรมของคนที่ใช้ปัญหาทางอารมณ์ของตนเองเพื่อเรียกร้องความเห็นใจบนอินเทอร์เน็ต ต่อมาในเดือนกันยายน ก็มีรายงาน โดยคณะกรรมการครูใหญ่จากหลายโรงเรียนระบุว่า การใช้คำนี้กับเด็กที่ชอบโพสต์ปัญหาของตัวเองบนโซเชียลมีเดียเป็นการบูลลี่นักเรียน

Opioid ยาแก้ปวดฤทธิ์แรง
ยาแก้ปวดที่มีสารโอปิออยด์ ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 100 เท่าเป็นข่าวใหญ่ในปี 2019 เนื่องจากมีรายงานเปิดเผยว่า ยาแก้ปวดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 130 คนต่อวัน ปรากฏการณ์นี้นับเป็นวิกฤตสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา

Pronoun คำสรรพนาม
คำนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อเริ่มมีการถกเถียงกันเรื่องการใช้สรรพนามที่แทนเพศชาย/หญิง อย่าง he/him หรือ she/her นักร้องชื่อดังอย่าง แซม สมิธ ประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า คำสรรพนามของผมคือ they/them ซึ่งเป็นสรรพนามที่ไม่ระบุเพศ นับเป็นการปรับตัวสำหรับไวยากรณ์ เมื่อตลอดมา คำว่า they ใช้กับคำนามพหูพจน์

Woke ตาสว่าง
คำว่า ‘ตื่นแล้ว’ หรืออาจจะแปลได้อีกอย่างว่า ‘ตาสว่างแล้ว’ ถูกใช้ในความหมายว่าได้รับข้อมูลอย่างดีมาตั้งแต่ปี 1962 แต่พจนานุกรมอ็อกซฟอร์ดบรรจุคำนี้ลงไปเมื่อปี 2017 ให้ความหมายว่า “ตื่นตัวต่อการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติสีผิวและความไม่เป็นธรรมทางสังคม” เหตุที่คำนี้เป็นคำทรงอิิทธิพลในปี 2019 ก็เพราะว่า เมื่อปลายปี 2018 แซม แซนเดอร์ส ผู้ประกาศเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันขอร้องให้ทำลายคำนี้ เพราะว่าตอนนี้คำนี้ถูกคนผิวขาวใช้มากเกินไปจนผิดความหมาย

Nanoinfluencer นาโนอินฟลูเอนเซอร์
เราเพิ่งคุ้นเคยกับคำว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่หมายถึงบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน ก็มีคำที่ย่อยลงไปอีก นาโนอินฟลูเอนเซอร์หมายถึงคนที่มีผู้ติดตามหลักพันซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ แบรนด์ต่างๆ จ้างให้โฆษณาสินค้าในราคาที่ไม่แพง

Cancelled ถูกเท
คำนี้เป็นคำที่บุคคลสาธารณะกลัว เพราะหมายถึงการถูกเทจากเหล่าผู้ติดตามหรือคนแปลกหน้านับล้าน ตัวอย่างเช่น เจมส์ ชาร์ลส์ บิวตี้ยูทูบเบอร์ที่ถูกผู้ติดตามต่อต้านด้วยเหตุผลว่าเขาทำตัวแปลก ยากเกินความเข้าใจ หรือจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาที่เคยทาหน้าสีดำถูกมองว่าเหยียดสีผิว จนคะแนนนิยมเริ่มถดถอย

Crisis วิกฤตการณ์
ในยุคสมัยของเรา ดูเหมือนจะต้องเผชิญกับวิกฤตมากมาย ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม การเมืองไปจนถึงเศรษฐกิจ ทุกอย่างเป็นเรื่องฉุกเฉินไปหมด ปีนี้สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามีข่าวเกี่ยวกับวิกฤติรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤติภูมิอากาศก็รุนแรงมากขึ้น เดอะการ์เดียนเองก็เปลี่ยนจากการใช้คำว่าสภาวะภูมิอากาศเปลียนแปลงไปเป็นวิกฤติภูมิอากาศเพื่อแสดงถึงความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหา



ที่มา
The Momentum
เดอะการ์เดียน (The Guardian)

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด