นอกจากประเทศไทยจะเป็นจุดหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของเหล่านักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว ล่าสุดประเทศไทยยังขึ้นมาเป็นเบอร์ 1
ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) แม้ที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่จากการจัดอันดับของ The Inter national Healthcare Research Center (IHRC) ที่ระบุว่า
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 6 ของโลก และมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึงราว 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ซึ่งเหตุผลที่ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ประกอบไปด้วย 4 เหตุผลหลักๆ ดังนี้
1. ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกและบริการที่ดีกว่า
ขึ้นชื่อว่าเมืองไทยนั้นนอกจากจะมีบริการที่ดี พูดคุยด้วยรอยยิ้มจนชาวต่างชาติติดใจแล้ว ค่ารักษาพยาบาลในไทย ทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐ ก็ยังถูกกว่าในหลายประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น ค่าผ่าตัดบายพาสหัวใจ หากรักษาที่สิงคโปร์ ค่าบริการเฉลี่ยจะสูงถึง 18,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากมารักษาในไทย ราคาเฉลี่ยเพียง 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่าถึงเกือบเท่าตัว
2. จำนวนโรงพยาบาลมาตรฐานที่มากกว่า
หากพูดถึงโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากลนั้น ประเทศไทยเรามีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) มากถึง 42 แห่ง (มากเป็นอันดับ 4 ของโลก) เมื่อเทียบกับอินเดียที่มี 23 แห่ง และมาเลเซียกับสิงคโปร์ที่มีเพียง 10 แห่ง
จะเห็นได้ว่าไทยเรามีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคแถบนี้เลยทีเดียว
3. แพทย์ไทยมีชื่อเสียงด้านการทำศัลยกรรมและความงาม
ไม่ใช่เพียงการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ เท่านั้น ไทยเรายังขึ้นชื่อในเรื่องของการทำศัลยกรรม ทั้งการทำศัลยกรรมใบหน้า, การแปลงเพศ รวมไปถึงการบริการด้านความงามอื่นๆ เช่น สปา หรือการนวดต่างๆ มีการเปิดเผยตัวเลขว่าการทำศัลยกรรมจมูกในไทยนั้น มีราคาถูกกว่าในสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า และศัลยกรรมแปลงเพศมีราคาถูกกว่าสหรัฐฯ และยุโรปถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
4. ภาครัฐ และ EEC ช่วยผลักดันไทยเข้าสู่ Medical Hub ของโลก
EEC หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจในประเทศไทยให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลก โดยภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้น อยู่ในส่วนของ New S-curve หรือ 5 อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
และสิ่งสำคัญต่อจากนี้คือ ECC กำลังจะช่วยต่อยอดให้ไทยก้าวเข้าไปสู่
การเป็นศูนย์กลางการแพทย์อย่างครบวงจร (Medical Hub) โดยการเพิ่มธุรกิจด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากเดิมที่มีพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม โดยอุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตที่ค่อนข้างเร็วในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของไทย จะประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
การให้บริการสมัยใหม่ : การให้บริการด้านการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน โดยการใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อและระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คำปรึกษาและบริการกับผู้ป่วยทางไกลทั้งในและต่างประเทศ
การวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ : การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล ซึ่งมีรากฐานมาจากการพัฒนาของเคร่ืองรับรู้และอุปกรณ์การวัดสมัยใหม่ โดยสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการวินิฉัยโรคด้วยตนเอง
การวิจัยยา-ผลิตเวชภัณฑ์ : ส่งเสริมและเน้นการวิจัยยาที่เป็นที่ต้องการของเอเชียเป็นหลัก โดยเน้นการลดกระบวนการและลดระยะเวลาการทดลองยาสมัยใหม่ ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้มีการทดสอบและผลิตยาในประเทศไทยเพื่อเอเชียในอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่กว่ายาสามัญท่ัวไป
ซึ่งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก และในอนาคตนอกจากประเทศไทยจะเป็นศูนย์การการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism แล้ว จะยังเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub อีกด้วย
ที่มา:
www.scbeic.com
www.mangozero.com