“อาชีพเชฟ” เชื่อว่าน้องๆ หลายคนก็คงจะรู้จักกันมาพอสมควร ซึ่งในปัจจุบันสายอาชีพนี้นับว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีและมีรายได้สูง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ใครหลายๆ คนใฝ่ฝันถึง แต่อาชีพเชฟจริงๆ เชื่อว่าน้อยคนที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะน้องๆ ส่วนมากมักคิดว่าเชฟคือคนทำอาหาร แต่จะมีใครรู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว อาชีพเชฟ แตกต่างจาก กุ๊ก และหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็ต่างกันด้วย
อธิบายให้น้องๆ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เชฟ จะมีหน้าที่ "บริหารครัว" มากกว่าปรุงอาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกุ๊ก โดยภาระหน้าที่หลักของเชฟ คือ วางแผนบริหารจัดการเกี่ยวกับการเตรียมและปรุงอาหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้
คิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ เตรียมและปรุงอาหาร
สาธิตเทคนิคในการปรุงอาหาร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการทำอาหาร
ควบคุมคุณภาพของอาหาร ตั้งแต่การเตรียมไปจนถึงการตกแต่งจาน
วางแผนปริมาณอาหารที่ต้องเตรียม รวมถึงการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
ปรึกษาเกี่ยวกับการเตรียมอาหารกับผู้จัดการ นักโภชนาการ และทุกคนในครัว
เลือกพนักงานในครัว ประเมินผลและคำนวณค่าแรง
ตรวจสอบสุขอนามัยและดูแลการรักษาความสะอาดในครัว
และอาชีพเชฟในครัวใหญ่ๆ ของโรงแรมหรือภัตาคารนั้น ก็จะมีหลายตำแหน่งด้วยกัน เช่น
Head Chef หรือ Executive Chef หัวหน้าเชฟ มีหน้าที่หลักคือควบคุมดูแลความเรียบร้อยของการทำอาหาร ไปจนถึงการออกอาหาร รวมถึงการทำงานของทุกคนในครัว
Second Chef หรือ Sous Chef เป็นตำแหน่งรองลงมาจากหัวหน้าเชฟ หน้าที่หลักคือเป็นผู้ช่วยเชฟใหญ่ในการทำงาน อาจจะรับผิดชอบเป็นแผนกๆ ไป
Demi Chef รองหัวหน้าเชฟ ที่ในแต่ละแผนกอาจจะมีรองหัวหน้าเชฟอยู่หลายคน
Commis Chef เป็นตำแหน่งแรกเริ่มสำหรับอาชีพเชฟ มีหน้าที่ช่วยงานต่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญอะไรเป็นพิเศษก็ได้
Chef de Partie หรือ Section Chef เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ที่มีในห้องอาหารหรือภัตตาคารขนาดใหญ่ที่ต้องมีคนดูแลแผนกย่อยลงไป เช่นแผนกเตรียมผัก แผนกอบขนม แผนกย่าง เป็นต้น
เรียกว่าผู้ที่จะเป็นเชฟได้ ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องรู้เรื่องการบริหารจัดการ และทำงานภายใต้ภาวะกดดันได้อย่างดี สำหรับน้องๆ คนไหนที่คิดว่าตัวเองสนใจและอยากทำงานที่ท้าทายนี้ นอกจากรักการทำอาหารแล้ว จำเป็นต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวที่สำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย นั่นคือ ต้องเป็นคนที่รักความสะอาด สามารถจัดสรรเวลาได้เป็นอย่างดี มีความอดทน รู้จักการสื่อสาร มีไหวพริบ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี
และสำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจในอาชีพเชฟ สามารถเลือกเรียนต่อทางด้านนี้โดยตรงในสายอาชีพ รวมถึงสามารถเข้าเรียนทางด้านคหกรรมศาสตร์ หรือคณะสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการโรงแรม การประกอบอาหาร อุตสาหกรรมอาหารและบริการ ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านนี้ อย่างเช่น
สาขาวิชาการจัดการโรแรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ที่มา :
www.thaicookjob.com
www.smeleader.com
www.aboutaussie.com