หน้าแรก เรียนเป็นผู้ประกอบการ ข่าว/บทความ

ตลาดงานยุคไทยแลนด์ 4.0 เรียนสาขาไหนรุ่ง? บัณฑิตแบบไหนจะไปรอด?

วันที่เวลาโพส 17 มกราคม 61 11:47 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

เวลาเปลี่ยน ทุกสิ่งในโลกก็เปลี่ยน ไม่เว้นแม้แต่งานหรืออาชีพที่สร้างรายได้ดี ได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดงาน อนาคตก็อาจกลายเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ และอาชีพบางอย่างก็อาจหายไปจากโลก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ รวมไปถึงค่านิยมและวิถีชีวิตของผู้คนที่ปรับเปลี่ยน ยิ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดงานเปลี่ยนตามไปด้วย 

และที่สำคัญ ประเทศไทย(กำลัง)ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตลาดงานก็ยิ่งปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แล้วคุณคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ลูกหลานหรือแม้แต่ตัวคุณเอง จะเป็นบัณฑิตหรือบุคลากรแบบไหนที่สามารถจะตอบโจทย์ตลาดงานที่เปลี่ยนไปนี้ได้? ซึ่งบทความนี้ เรามีคำตอบและคำแนะนำจากกูรูด้านตลาดงานหลายท่านมาให้ผู้อ่านทุกคนได้ศึกษาไว้เป็นแนวทางในการปรับตัวสำหรับอนาคตกัน


คนแรกคือ คุณอันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นไว้ว่า

" สมัยก่อนคนไทยมักใฝ่ฝันทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็อาชีพยอดนิยมอย่างหมอและวิศวกร แต่ปัจจุบันเมื่อสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาท พฤติกรรมคนเปลี่ยน อาชีพใหม่ๆ ที่ตอบสนองสื่อดิจิทัลจึงเกิดขึ้นมามากมาย เช่น งานการตลาดดิจิทัล งานพัฒนาแอพพลิเคชั่น ฯลฯ ส่งผลให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวตามตลาดงานไปด้วยเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตรงเป้าหมาย จากมหาวิทยาลัยที่เคยมีแค่คณะเดิมๆ หรือหลักสูตรที่สอนแบบกว้างๆ ก็เปลี่ยนเป็นหลักสูตรเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล เกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ การสร้างแอนิเมชั่น หรือแม้แต่สาขาวิชาการสร้างเจ้าของกิจการ

แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดสอนสาขาวิชาเหล่านี้ ทำให้มีบัณฑิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จากข้อมูลพบว่าตลาดงานยังขาดแคลนอาชีพดังกล่าวราว 85% ทั้งๆ ที่รายได้สูงกว่าอาชีพทั่วไปถึง 61% นอกจากนี้ คนที่มีทักษะทางวิชาชีพหรือ Skill Set ตลอดจนความรู้ภาษาต่างประเทศก็เป็นที่ต้องการมาก เพราะบริษัทอินเตอร์ฯ เกิดขึ้นในไทยจำนวนมาก ความสำคัญอีกประการคือ บริษัทส่วนใหญ่ต้องการคนที่มีแนวคิดแบบเป็นเจ้าของ เพราะคนลักษณะดังกล่าวจะไม่ได้คิดแค่เป็นลูกจ้างที่ทำงานไปวันๆ "

 
ซึ่งจากความคิดเห็นดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับบัณฑิตที่มีทักษะทางวิชาการอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในตาดงานยุคใหม่นี้ เพราะฉะนั้น ทักษะภาคปฏิบัติที่จะช่วยส่งเสริมให้บัณฑิตมี Skill Set ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับคำตอบของ คุณสรัญธร ทัศนกุลพันธ์ ผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล บริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เห็นเรซูเม่สมัครงานผ่านตาจำนวนมากในแต่ละวัน เธอมาให้ความคิดเห็นเพื่อช่วยไขคำตอบกับเราว่า บัณฑิตแบบไหนที่บริษัทชั้นนำต้องการ?

“ Competency และ Skill เป็นสิ่งที่ HR ทุกแห่งพยายามนำมาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก ซึ่งอันดับแรก เรซูเม่จะสะท้อนบุคลิกภาพผู้สมัครงานได้ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งงานบัญชี การวางแพตเทิร์นในเรซูเม่จะค่อนข้างเป็นระบบระเบียบ เป็นต้น นอกจากนี้ความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติหรือ Skill ก็เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ล้วนต้องการ จริงอยู่ว่าทุกองค์กรย่อมมีการฝึกฝนพนักงานใหม่อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกคนที่สามารถลงมือปฏิบัติได้เลย หรือไม่ก็คนที่องค์กรไม่จำเป็นต้องมาฝึกฝนเพิ่มเติมมากนัก

ดังนั้น การทำกิจกรรมระหว่างเรียนและรายละเอียดการฝึกปฏิบัติของหลักสูตรแต่ละสาขาจึงสำคัญมาก เราจะดูว่าเขาทำกิจกรรมอะไรบ้าง หลักสูตรมีภาคปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน การฝึกงานตรงตามสายงานหรือไม่ ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วองค์กรก็จะเลือกผู้สมัครงานที่เก่งด้านปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี


และจากข้อมูลและความคิดเห็นของกูรูด้านตลาดงาน คำว่า มหาวิทยาลัยรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จอีกต่อไป แต่บัณฑิตที่จะ “ไปรอด” ในตลาดงานยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น จำเป็นต้อง สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาเฉพาะทาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดงาน โดยเฉพาะงานที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นงานที่ใช้ทักษะเฉพาะตัวและเทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้ อีกทั้งต้องมีทักษะภาคปฏิบัติที่แข็งแรงควบคู่กับทักษะภาควิชาการ และถ้ามีวิสัยทัศน์ของการเป็นเจ้าของกิจการด้วย ก็จะยิ่งส่งเสริมให้บัณฑิตคนนั้นไม่เพียงแค่ไปรอด แต่สามารถ "ไปได้ไกลกว่า บัณฑิตคนอื่น" ในตลาดงานยุคไทยแลนด์ 4.0 หรืออนาคตนับจากนี้


ที่มา :
jobsdb.com  
www.mangozero.com


 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด