PwC เผยผลสำรวจ
''Global CEO Survey" ความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ปีนี้ลดลง หลังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ-กระแสลัทธิคุ้มครองทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวในการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพราะเชื่อว่าจะมีผลกระทบกับองค์กรในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมมองแนวโน้มการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ต้องพัฒนาทักษะของบุคลากรหลังหลายอุตสาหกรรมจ่อเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ใน 10-20 ปีข้างหน้า
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจ
PwC’s 20th Annual Global CEO Survey ครั้งที่ 20 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 ซึ่ง
สำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,379 คนใน 79 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 7 ประเทศ ว่า ผู้นำธุรกิจอาเซียนต่างตระหนักดีถึงการเข้ามาของดิจิทัลและการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธุรกิจ โดยซีอีโออาเซียนที่ทำการสำรวจเห็นตรงกันว่า
ดิจิทัลจะมีส่วนสำคัญมากในกำหนดเป้าหมายขององค์กรและจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม วัฒนธรรม และพฤติกรรมขององค์กร
นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจอาเซียนเกือบ 60% ต่างระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เข้ามาพลิกโฉมหรือส่งผลกระทบต่อการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ในขณะที่ 72% คาดว่า เทคโนโลยีจะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไป ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) จะเข้ามามีอิทธิพลกับการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยซีอีโอมากกว่าครึ่งระบุว่า ได้เริ่มทำการศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกลแล้ว
นาย ศิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมภายใน 10-20 ปีข้างหน้า โดยกระแสนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศชั้นนำของโลก ดังนั้น
ทักษะอะไรก็ตามที่เครื่องจักรกลไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เช่น ทักษะในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย”
และนี่คือ ทักษะการทำงานที่หายากในสายตาซีอีโอทั่วโลก 5 อันดับ ประกอบไปด้วย
1 ทักษะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (77%)
2 ทักษะการเป็นผู้นำ (75%)
3 ทักษะการบริหารอารมณ์ (64%)
4 ทักษะการปรับตัว (61%)
5 ทักษะการแก้ปัญหา (61%)
ในขณะเดียวกัน ทักษะด้านดิจิทัลและสะเต็ม (STEM) ประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
ถือเป็นทักษะที่ท้าทายและจำเป็นที่ผู้นำองค์กรต้องมี
แน่นอนว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจอย่างแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้ว ตัวผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานก็ต้องปรับตัว ใช้ประโยชน์และพัฒนาทักษะให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในส่วนของซีอีโอเอง นอกจากจะต้องมีความเป็นผู้นำแล้ว ยังต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ กล้าตัดสินใจในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างโดดเด่นในยุคดิจิทัล
ที่มา :
www.smartsme.co.th