ใครที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองหรือหวังอยากจะลงทุนตั้งบริษัทเป็นผู้ประกอบการทันทีที่เรียนจบ แต่อาจยังไม่เข้าใจรายละเอียดขั้นตอนในเรื่องของ “การจัดตั้งบริษัท” ว่าควรเริ่มต้นทำอย่างไร? แล้วทำไมเราจึงควรที่จะจัดตั้งบริษัทจำกัด? ในบทความนี้ เรามีคำตอบให้กับคนที่กำลังคิดจะลงทุนทำธุรกิจและก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพได้ทำความเข้าใจให้มากขึ้น
รู้จักความหมายของ “บริษัทจำกัด”
บริษัทจำกัด หมายถึง องค์กรธุรกิจ ที่มีผู้ลงทุนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงทำการค้าร่วมกันเพื่อหากำไรและแบ่งกำไรที่ได้จากการดำเนินการนั้น โดยแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ ละเท่ากัน โดยผู้ลงทุนเราเรียกว่า
“ผู้ถือหุ้น” และผู้ถือหุ้น มีความรับผิดชอบจำกัดเท่าที่ตกลง ลงหุ้นในบริษัทเท่านั้น
"การจัดตั้งบริษัท" มีเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทและบุคคลภายนอกที่ติดต่อธุรกิจกับบริษัท หรือแม้แต่คู่ค้าของบริษัท เจ้าหนี้ธนาคาร ตลอดจนผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้าลงทุนในบริษัท
2. ความมั่นคงของกิจการ บริษัทเป็นองค์กรธุรกิจที่กฎหมายต้องการให้มีชีวิตยาวนานไปได้จนกว่าผู้ถือหุ้นผู้เป็นเจ้าของบริษัทจะประสงค์ให้เลิกบริษัท แม้ผู้ถือหุ้นจะเกิดเหตุใด บริษัทก็จะมั่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อบริษัทมีความมั่งคงก็เป็นการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างหนึ่งให้บุคคลภายนอกที่อยากจะเข้าทำธุรกรรมด้วย
3. ลดความเสี่ยง ความรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของกิจการเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้ตนเองต้องเป็นหนี้เป็นสินเกินกว่า ส่วนลงทุน เมื่อผู้ลงทุนสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ บริษัทจึงเป็นรูปแบบองค์กรธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการจำกัดความรับผิดของตนเป็นอันดับแรก
4. การระดมทุน เมื่อการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก การพึ่งพาเงินทุนของผู้ลงทุนในจำนวนไม่กี่คนอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานของบริษัท “กฎหมายบริษัท” จึงตอบสนองความต้องการเงินทุนของกิจการด้วยการไม่ผูกโยงบริษัทเข้ากับผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ ในการดำเนินงานอย่างมีรูปแบบโดยคณะกรรมการ
5. รองรับการเติบโตในอนาคต แม้บริษัทจำกัดจะเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการลงทุนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับ “บริษัทมหาชนจำกัด” แต่กฎหมายจะกำหนดกระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุน ดังนั้น เมื่อการลงทุนของผู้ประกอบการในขั้นต้นยังไม่ต้องการเงินทุนจำนวนมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มจะขยายกิจการให้เติบโตและก้าวหน้า การจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดก็จะเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจที่จะแปรสภาพเป็น
“บริษัทมหาชนจำกัด” ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : terrabkk.com