การจัดการความปลอดภัย ในการบริหารจัดการท่าเรือสำหรับเรือสำราญ
การจัดการความปลอดภัยมีความจำเป็นมากและต้องครอบคลุมในหลากหลายประเด็น รวมถึงสุขอนามัย ความสะอาด การจัดการความเสี่ยงความปลอดภัยของท่าเรือ โดยต้องผ่านมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ระดับนานาชาติของความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ (International Ship and Port Facility Security Code: ISPS Code)
ในปัจจุบัน ISPS Code ของทุกท่าเรือในประเทศไทยหมดอายุ และไม่ได้มีการต่ออายุมา 2-3 ปีแล้ว นอกเหนือจากนั้น การประสานการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบบนเรือกับบนฝั่งต้องประสานกันเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สิ่งที่สำคัญคือ ระหว่างที่นักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะไปกับบริษัทนำเที่ยวหรือไปโดยรถเช่าให้บริการ นักท่องเที่ยวต้องปลอดภัย ส่วนประเด็นความสะอาดของอาหารเป็นประเด็นใหญ่มาก
ภาพจาก :
pantip.com
สำหรับเรือสำราญ เนื่องจากบนเรือสำราญมีเพียงแค่คลินิกที่ให้บริการ เพราะฉะนั้น ร้านอาหารต้องเน้นเรื่องความสะอาดถูกสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคทางเดินอาหาร (Norovirus) ซึ่งเป็นเรื่องที่เรือสำราญเน้นมากที่สุด เพราะหากมีการระบาดบนเรือสำราญจะส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของสายการเดินเรือนั้น ในส่วนความปลอดภัยของท่าเรือในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ปกติกล่าวคือไม่ได้มีประเด็นไหนที่ทำให้เรือสำราญมองว่าเป็นจุดอ่อนอย่างรุนแรงเพียงแต่ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเพื่อเน้นให้ประเด็นนี้เป็นจุดแข็งให้ได้
อีกทั้งการวางแผนการจัดการความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น แผ่นดินไหว สีนามิ อุบัติเหตุ ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลทำการฝึกฝน ให้ความรู้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อรับมือในกรณีฉุกเฉินเพื่อสร้างความมั่นใจให้เรือสำราญและตัวนักท่องเที่ยว