อนาคตการท่องเที่ยวไทย กับการ "ล่องเรือสำราญ"
การท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นการพักผ่อนที่ดีต่อร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการสะสมประสบการณ์สำคัญของแต่ละช่วงชีวิต บางคนอาจได้ลองเดินทางมาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบการเดินทางที่น้อยคนจะได้รู้จัก
การท่องเที่ยวบนเรือสำราญ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยนัก ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเล และมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว
ในมุมมองของการท่องเที่ยวในระดับโลก
การล่องเรือสำราญเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก ข้อมูลจากสมาคมการเดินเรือสำราญใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีจำนวน นักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 17.8 ล้านคนในปี 2552 เป็น 23 ล้านคน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจเรือสำราญจะขยายตัวจากการสร้างเรือใหม่ของสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 55 ลำ เกิดการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน
ปัจจุบันทั่วโลกมีเรือสำราญรวมกว่า 5,000 ลำ และแต่ละลำมีความต้องการเดินทางทางเรือเข้ามาในอาเซียน หากสามารถปรับแก้กฎหมายได้คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ในอาเซียนมีเรือสำราญเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 500 ลำ/ปี สร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับกฎหมายเรือยอชต์ของประเทศไทย มีข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การจัดเก็บภาษีเรือซุปเปอร์ยอชต์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูงและต้องมีการจ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 หน่วยงาน
ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อม แต่อาจจะต้องอาศัยเวลาและการผลักดันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยเป็นจุดแวะพักที่ได้รับความนิยมมาก ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า
ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญมายังประเทศไทยในลักษณะของ Port of Call หรือท่าเรือแวะพักในทุกท่าเรือ ประมาณ 450,000 คน
โดยส่วนใหญ่ถ้ามาจากฝั่งอันดามันจะแวะเทียบท่าที่ภูเก็ต แต่ถ้ามาจากฝั่งอ่าวไทยจะแวะเทียบท่าที่เกาะสมุย หรือถ้าจะมาภาคกลางจะแวะที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นต้น นอกจาก Port of Call แล้ว ตอนนี้เรามีเรือสำราญที่เข้ามาในลักษณะ Turn-around port คือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของทริประยะสั้น
แม้วันนี้ไทยจะเป็นเพียงท่าเรือแวะพัก แต่ในอนาคตหลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะพัฒนาสู่การเป็น Homeport หรือท่าเรือหลักได้ การเป็นท่าเรือหลักเรายังติดปัจจัยหลายอย่าง เช่น การตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร แต่มีโอกาสที่จะพัฒนาตรงนี้ได้ เนื่องจากเรามีท่าเรือที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้วคือที่แหลมฉบัง นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือที่ภูเก็ต ที่มีความพร้อมและศักยภาพจะพัฒนาเป็นท่าเรือหลักได้ และถ้ามีการสนับสนุนและมีความต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เชื่อว่าใน 2-5 ปีจากนี้การท่องเที่ยวทางเรือสำราญจะเติบโตและเป็นที่นิยมในเมืองไทย ซึ่งวันนี้โอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวทางเรือในประเทศไทย เห็นภาพได้ชัดขึ้น เมื่อ คอสตา ครุยส์ ผู้ให้บริการท่องเที่ยวสัญชาติอิตาลีขยายการเดินเรือสำราญคอสตา วิกตอเรีย เข้ามายังอ่าวไทยด้วย
Credit :
www.cruisemates.com/costa
โดยผู้จัดการทั่วไปคอสตา ครุยส์ ระบุว่า "เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพและการเติบโตของตลาดในประเทศไทย การมาเปิดการเดินเรือสำราญที่แหลมฉบังครั้งแรกผลตอบรับดีมาก ใช้เวลาไม่นาน มีผู้สนใจมากกว่า 80% โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มาเป็นครอบครัวและเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคอสตาเป็นเรือสำราญลำแรกที่มาเปิดการท่องเที่ยวที่แหลมฉบัง ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีนี้
ธุรกิจเรือสำราญเป็นธุรกิจที่สร้างความสุขและเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่คนไทยยังไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อพูดถึงเรือสำราญ ความรู้สึกเเรกที่เกิดขึ้นคือ แพง เเต่คนไม่ได้มาแตกออกดูว่าเงินก้อนใหญ่นี้รวมอะไรบ้าง ปกติการวางเเผนเที่ยวจะต้องซื้อเเยกทั้งค่าเดินทาง โรงเเรมรวมถึงอาหารที่เราไม่ได้นับเพราะไปจ่ายที่หน้างาน แต่พอเป็นเรือเขารวมทุกอย่างมาให้หมดเเล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความคิดของคนที่ไม่เคยเที่ยวเรือสำราญมาก่อน กลัวอยู่บนเรือทั้งวันไม่มีอะไรทำ บางคนก็กลัวเรื่องของการเมาเรือ เเต่เรือสมัยนี้มีความทันสมัยมากเหมือนอยู่โรงเเรมจนเราจะไม่รู้สึกว่าอยู่บนเรือเลย ในขณะเดียวกันเรือจะเคลื่อนที่ไปตลอด ในเเต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมาก็จะเป็นเมืองใหม่ ผู้สูงวัยหรือเด็กสามารถเดินทางไปเที่ยวได้โดยไม่เหนื่อย เหมือนเราพักผ่อนในขณะเดียวกันก็เดินทางไปเมืองใหม่ได้"
ที่มา :
www.matichon.co.th
thethaiger.com
www.cruisemates.com/costa