สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เขาเรียนอะไรกันบ้าง ในวิทยาศาสตร์ข้อมูล

UploadImage
 
                     สิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือ ผลลัพธ์สุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านค้นพบ จะมีประโยชน์ต่อท่าน ต่อองค์กรของท่าน หรือต่อสังคมมากเพียงใด ก็ขึ้นกับทักษะ ประสบการณ์ และการฝึกฝน

                   ในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีการพูดคุยกันถึงคำว่าวิทยาศาสตร์ข้อมูลกันมาเรื่อย ๆ แถมพูดกันบ่อย ๆ จนในท้ายที่สุด ก็เกิดเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์) ที่ภาควิชาครับ http://www.cp.eng.chula.ac.th/future/graduate/master- computerscience ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เรามีการประชุมร่วมกับคณะอื่น ๆ ในจุฬาฯ ภาคเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ หลายรอบทีเดียวครับ ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือในการทำวิจัยและ “ผลลัพธ์” บางอย่างที่น่าสนใจก็เกิดขึ้นบ้างแล้ว (ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าถึงผลการวิเคราะห์ข้อมูลการโซเชียลเน็ตเวิร์กไปแล้ว)

                   หลังจากที่เราพยายามเรียนรู้จากการทำงานกับหลาย ๆ ฝ่าย ตอนนี้ก็ถึงช่วงที่กำลังนำกระบวนการทำงานที่เกิดประโยชน์เหล่านี้ กลับมาถ่ายทอดในรูปแบบทางวิชาการที่เราถนัดครับ จึงถึงเวลาที่จำเป็นต้องไปศึกษาอย่างละเอียดว่า การเรียนการสอนที่หลายสถาบันในต่างประเทศเตรียมไว้เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เขาสอนอะไรกันบ้าง

                  เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ อย่างเบิร์กลีย์ (UC Berkely) ซึ่ง School of Information ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลในระดับปริญญาโท โดยวิชาที่ต้องเรียน 9 วิชา 27 หน่วยกิต เป็นวิชาพื้นฐาน 5 วิชา ประกอบไปด้วย การออกแบบวิจัยและการประยุกต์ใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ ท่องโลกข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การเก็บและเข้าถึงข้อมูล การเรียนรู้ของเครื่องประยุกต์ การแสดงข้อมูลและการสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูล มีวิชาชั้นสูง 3 วิชา ให้เลือกจาก 5 วิชา ซึ่ง 5 วิชานี้ประกอบด้วย การทดลองและการอนุมานเหตุ การใช้ข้อมูลและคุณค่าของข้อมูล ข้อมูลขนาดใหญ่ การถดถอยประยุกต์และการวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลา การเรียนรู้ของเครื่องบนข้อมูลขนาดใหญ่ ส่วนอีกหนึ่งวิชาเป็นแนวการทำโครงการเพื่อรวบรวมความรู้ ความคิด (เหมือนโครงการสำหรับการจบการศึกษาของน้อง ๆ ปริญญาตรี)

 
UploadImage
 
                  ในขณะที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล ถึงขนาดเปิดเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ข้อมูล (http:// datascience.columbia.edu) และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูลในสถาบันนี้ โดยเปิดในแนวทางคล้าย ๆ กับเบิร์กลีย์ แต่จะแตกต่างตรงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จะเพิ่มเนื้อหาทางด้านสถิติเข้ามาด้วย เหมือนเป็นจุดแข็งอีกทางหนึ่ง โดยมีเรียนทั้งความน่าจะเป็น สถิติ การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างแบบจำลองทางสถิติ ส่วนวิชาที่คล้าย ๆ กันกับทางเบิร์กลีย์ ก็มีอย่างระบบคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาศาสตร์ข้อมูล การเรียนรู้ของเครื่องสำหรับวิทยาศาสตร์ข้อมูล อัลกอริทึมสำหรับวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้นครับ

                  ผมหยิบตัวอย่างการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่านลองดูสองที่ ซึ่งถึงตรงนี้หลายท่านคงพอวาดภาพการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้บ้างแล้วนะครับ ว่าเมื่อจบหลักสูตรประมาณเกือบสองปี เราจะได้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความสามารถในแบบใด

                  สำหรับท่านที่สนใจ ก็ลองหาหลักสูตรที่เหมาะสมกับท่านเอง และที่สำคัญ เหมาะกับข้อมูลและการนำข้อมูลของท่านไปใช้ ข้อมูลบางแบบ อาจต้องเน้นทางสถิติ ข้อมูลบางแบบ อาจต้องเป็นการเรียนรู้ของเครื่อง ในขณะที่ข้อมูลหลายอย่าง อาจต้องเริ่มเน้นที่กระบวนการเก็บข้อมูล และการแสดงข้อมูล เพื่อให้มนุษย์เข้าไปช่วยกำหนดทิศทางการวิเคราะห์ต่อไป
                  
                สิ่งสำคัญของวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือ ผลลัพธ์สุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านค้นพบ จะมีประโยชน์ต่อท่าน ต่อองค์กรของท่าน หรือต่อสังคมมากเพียงใด ก็ขึ้นกับทักษะ ประสบการณ์ และการฝึกฝน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งฝั่งหนึ่งฝั่งใด (ฝั่งเจ้าของข้อมูลและฝั่งเจ้าของเทคนิค) ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยลำพัง หวังว่าท่านผู้อ่านที่กำลังสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ข้อมูล คงมองเห็นภาพชัดขึ้นอีกเล็กน้อยนะครับ สำหรับท่านที่สนใจ และไม่อยากไปเรียนที่ต่างประเทศ ไว้ทางภาควิชาฯ (ซึ่งแน่นอนว่า เราร่วมมือกับหลาย ๆ ฝ่าย) เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูลเมื่อใด ผมจะรีบมาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังครับ.

สุกรี สินธุภิญโญ ( sukree.s@chula.ac.th ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์