สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ประชุมชี้แจงโครงการโรงเรียนประชารัฐ

              "โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการระยะที่ 1 ทั่วประเทศ 3,342 โรงเรียน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ รวมทั้งนายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา พร้อมด้วยคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเปิดการประชุมในครั้งนี้

  

           เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส และคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ "โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ"  โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, ผู้บริหารองค์กรหลัก, ผู้บริหารภาคเอกชน, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 เข้าร่วมกว่า 3,500 คน

 

 

                รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ  กล่าวถึงโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ว่า เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำให้มีสัมฤทธิผล และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

               ซึ่งต้องยอมรับว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ แตกต่างจากโครงการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) เนื่องจากการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะเป็นระบบมากขึ้น กระจายไปสู่วงกว้างมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นระบบการศึกษาทั้งระบบที่จะต้องมีการวางแผนงาน งบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะรองรับกับพลวัตรในศตวรรษที่ 21

                  โดยทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย การเรียนรู้ 3R x 8C ตลอดชีวิต

3R คือ Reading-อ่านออก, (W)Riting-เขียนได้, (A)Rithenmatics-คิดเลขเป็น
8C คือ 
- Critical Thinking and Problem Solving : การคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ไขปัญหาได้
- Creativity and Innovation : คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม
- Cross-cultural Understanding : ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม กระบวนการคิดข้ามวัฒนธรรม
- Collaboration teamwork and leadership : ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
Communications information and media literacy : ทักษะในการสื่อสาร และการรู้เท่าทันสื่อ
Computing and ICT literacy : ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยี
Career and learning skills : ทักษะทางอาชีพ และการเรียนรู้
Compassion : มีคุณธรรม มีเมตตา กรุณา มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำคัญของทักษะขั้นต้นทั้งหมด และเป็นคุณลักษณะที่เด็กไทยจำเป็นต้องมี

               ในส่วนของโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) "สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดรับสมัครโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (ระดับประถมศึกษา-ขยายโอกาส นักเรียน 80-600 คน, ระดับมัธยมศึกษา นักเรียน 120-600 คน) เข้าร่วมพัฒนาตามโครงการ ซึ่งมีโรงเรียนสนใจสมัครกว่า 10,000 โรงเรียนและมีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 จำนวน 3,342 โรงเรียน ที่จะได้รับการพัฒนาตามโครงการภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของ School Partners จากภาคเอกชน 1,000 คน และมี School Sponsor จากภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนต่อไปด้วย

              สิ่งที่จะได้รับจากการเป็นต้นแบบโรงเรียนประชารัฐ มีหลายประการ คือ 1) ครู ได้รับความรู้และประสบการณ์จากกระบวนการจัดการ ตลอดจนได้รับการพัฒนา-การเรียนรู้ต่างๆ 2) โรงเรียน ได้รับการเติมเต็มจากภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน ระบบฐานข้อมูล เป็นต้น 3) ผู้บริหาร ได้รับการพัฒนาคุณสมบัติและสมรรถนะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ 4) ผู้ปกครอง ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น


จึงฝากให้ผู้บริหารทุกคน ร่วมดำเนินงานตามบทบาทของภาครัฐใน 2 ส่วน ดังนี้

             Do คือ สิ่งที่ต้องทำ : ขอให้ผู้บริหารทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โครงการและปฏิบัติตามแผนงานโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การที่โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง นั่นก็หมายถึงความยั่งยืนนั่นเอง

              Don’t คือ สิ่งที่ไม่ควรทำ : ขออย่าได้ปัดความรับผิดชอบในการพัฒนาโรงเรียนไปให้โครงการโรงเรียนประชารัฐ รวมทั้งไม่ร้องขอรับการสนับสนุนอื่นตามความต้องการของตนเอง แต่ควรที่จะปฏิบัติตามแผนโครงการ

              อย่างไรก็ตาม มีความคาดหวังจากการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการมีธรรมาภิบาลในสถานศึกษา โรงเรียนมีความพร้อม มีสื่อ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนห้องเรียนที่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาษาอังกฤษต้องสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

 

 

                  นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน  กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน ขอชื่นชมโครงการสานพลังประชารัฐ ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญและยิ่งใหญ่สำหรับภาคเอกชน

                 ซึ่งโครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ทั้ง 3 ข้อ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพคน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมแบ่งปันและดำเนินโครงการสนับสนุนการศึกษา 3 โครงการ คือ

1) โครงการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา 10 ด้าน ได้แก่

  • Transparency เน้นความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ของข้อมูลการดำเนินงานของโรงเรียนและสนับสนุนให้มีการตั้งกองทุนโรงเรียน ซึ่งความโปร่งใสและการตรวจสอบได้จะทำให้เกิดการแข่งขันและนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับสถานศึกษา

  • Digital Infrastructure คือ การเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลทั่วโลกและการเข้าถึงเนื้อหาข้อมูลในระดับโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้กับการศึกษา

  • Market Mechanism การขับเคลื่อนกลไกตลาดโดยการทำให้ผู้ปกครอง ชุมชน เอกชนในท้องที่ และเอกชนระดับประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมกับสถานศึกษา เพราะโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนเยาวชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดึงความมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนด้วย ซึ่งจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กพัฒนาแบบก้าวกระโดด

  • Curriculum and Teaching Technique การปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centric) เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนฟองน้ำที่ซับน้ำได้เป็นอย่างดี โดยมีแนวทางในการดึงศักยภาพของเด็กออกมา และทำให้เด็กรักการตั้งคำถาม มีความคิดริเริ่ม การคิดวิเคราะห์ และการรู้จักแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะไม่มีที่สิ้นสุดเพราะเด็กจะมีส่วนร่วมในกระบวนการค้าคว้าหาคำตอบ

  • High Quality Principles คือ การพัฒนาผู้นำโรงเรียนให้มีความมุ่งมั่น รักที่จะพัฒนาเด็ก และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย อีกทั้งสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งผลิตและสร้างเยาวชนที่เข้มแข็งเพราะสถาบันการศึกษาคือผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ โดยผู้บริหารสถานศึกษาคือผู้นำที่จะดึงศักยภาพของนักเรียนออกมา เพื่อสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ มีความเข้มเข็ง มีคุณธรรม และจะเป็นพื้นฐานของความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ของประเทศต่อไป

  • Health and Heart เยาวชนต้องมีสุขภาพดีและมีอาหารการกินครบทุก 5 หมู่ พร้อมทั้งมีสภาพจิตใจต้องแข็งแรง รู้จักการให้ การเชื่อมโยง การมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม และเสียสละเพื่อสังคม

  • Local and International การผสมผสานความรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กล่าวคือ พัฒนาครูในประเทศ รวมทั้งดึงครูที่มีศักยภาพหรือครูในสาขาที่ขาดแคลนจากต่างประเทศ เข้ามาทำการสอนในไทย ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนการเรียนรู้แบบก้าวกระโดดสู่มาตรฐานสากลได้ อีกทั้งการดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาในไทย เพราะทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในประชาคมโลก

  • English Language แนวทางที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คือการมีภาควิชาหรือบางวิชาที่ทำการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในทุกชั้นเรียน รวมทั้งมีหนังสือหรือตำราเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากจะทำให้นักเรียนต้องค้นคว้าหาคำศัพท์ที่ใช้ในการสื่อสาร

  • Educational Hub การสร้างศูนย์กลางการศึกษา ด้วยการใช้เทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega Trends ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology เพื่อจะสร้าง School of Science and Research ด้วยการนำเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านมาพัฒนาต่อยอด

  • Young Leadership Development การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการคัดเลือกผู้นำรุ่น ด้วยการให้ทุนศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เป็นผู้นำที่เป็นกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

2) โครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ CONNEXT Ed (School Partner Leadership Program)  คือ โปรแกรมสร้างผู้นำควบคู่กับการขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ โดยภาคเอกชนคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกับโรงเรียน ซึ่งมีสัดส่วนผู้นำรุ่นใหม่ 1 คน ต่อ 3 โรงเรียน โดยจะดำเนินงานเป็นทีม ซึ่งหนึ่งทีมจะดูแลโรงเรียนประมาณ 15-20 แห่ง อีกทั้งในอนาคตมีแนวทางในการนำนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดย 1 โรงเรียนจะมีนักศึกษา 1-2 คนช่วยดูแล พร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานไปพร้อม ๆ กันภายใต้การนำของผู้บริหารสถานศึกษา อีกทั้งไม่จำกัดเฉพาะผู้นำจากภาคเอกชน ผู้นำที่เป็นอาสาสมัครจากทุกภาคส่วนที่ผ่านการคัดเลือกก็สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะดำเนินการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ตามโครงการ CONNEXT Ed ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

              นอกจากนี้ จะมี School Sponsor ที่เป็นผู้บริหารระดับ CEO หรือ CEO-1 ซึ่งจะเข้าไปเรียนรู้กับผู้บริหารสถานศึกษาและร่วมพัฒนาโรงเรียน โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้เรียนรู้และศึกษาปัญหาของโรงเรียนได้เร็วขึ้น ทางภาคเอกชนจะการสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนปีละ 500,000-1,000,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาทต่อปี ในเบื้องต้นจะมีการลงนาม MoU กับ 12 องค์กรที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะดูแลโรงเรียนทั้ง 18 ภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือภาคเอกชน 1 องค์กรจะดูแลสถานศึกษาใน 1-2 ภาค

3) โครงการมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย (Educational Hub)   โครงการนี้จะนำไปสู่การเชื่อมต่อด้านการค้นคว้าวิจัยกับภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนในภูมิภาค, ประชาคมอาเซียน และทวีปเอเชีย สามารถเข้ามาเรียนหนังสือที่ประเทศไทยได้ อีกทั้งมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega trends ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนและผสมผสานกันเพื่อการพัฒนาและสามารถนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในสังคม พร้อมทั้งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ตลอดจนสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน

 

ส่วนหนึ่งของพิธีเปิดการประชุมชี้แจงผู้บริหาร รร.ประชารัฐ รุ่นแรก 3,342 โรงเรียนทั่วประเทศ

 

ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ร่วมใจสร้าง "รร.ประชารัฐ" อย่างยั่งยืน

               หลังจากนี้ไปผู้นำรุ่นใหม่จากภาคเอกชนจะทำการ Workshop กับผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยการวางแผนสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาคเอกชนจะให้การสนับสนุนและประเมินผลความคืบหน้าและความสัมฤทธิ์ผลของโครงการในทุกไตรมาส อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) ที่จะเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป



ที่มา : สำนักข่าวรัฐมนตรี