โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนา Core Smart Trainer "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กุญแจสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2559 โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจาก 225 เขตทั่วประเทศ และศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็น Core Smart Trainer ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กว่า 3,000 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา เป็นช่วงที่มีงานต้องดำเนินการอย่างมากมายหลายด้าน จึงต้องขอความร่วมมือจากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานด้วยความทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 3,831 โรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนให้กับนักเรียนได้เข้าร่วม โดยได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้วนั้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดให้มีการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการรายงานและทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยได้เชิญ Smart Trainer Team และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตที่การศึกษาที่รับผิดชอบในพื้นที่มาร่วมนำเสนอข้อค้นพบและแนวปฏิบัติที่ดีจากการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับโครงการในปีการศึกษา 2559 ซึ่งจะมีโรงเรียนเข้าร่วมอีกกว่า 14,000 โรงเรียน
ผลการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ปี 2558-2559 ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์การลดเวลาเรียนในห้องเรียนให้น้อยลง เพื่อช่วยลดความเครียดของนักเรียน รวมทั้งมีการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตามความต้องการของตลาดแรงงาน การสร้างความรักความผูกพันระหว่างนักเรียนกับครูจากการทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังสามารถเพิ่มระดับคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ให้สูงขึ้นด้วย
หลังจากนี้จะให้ สพฐ.รายงานความก้าวหน้าและผลสำเร็จโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
ขอบคุณ : ภาพประกอบการ์ตูน
ผลการดำเนินงานโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ปี 2558-2559
-
คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (O-Net) ของโรงเรียนนำร่อง 3,831 โรงเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ พบว่าเกือบทุกโรงเรียนนำร่องทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีระดับคะแนนเฉลี่ยที่สูงขึ้นในทุกวิชา ซึ่งในเรื่องนี้ได้มอบให้ สพฐ.ไปพิจารณารายละเอียดของคะแนนอีกครั้ง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป เพราะแม้ว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมจะสูงขึ้น แต่ก็ถือว่ายังไม่สูงมากนัก อีกทั้งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบทั้งโรงเรียนที่มีคะแนนสูงที่สุดและโรงเรียนที่มีคะแนนต่ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีคะแนน O-Net ต่ำ จะให้ สพฐ.ดูลึกลงไปว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือและเติมเต็มให้ต่อไป พร้อมทั้งนำไปเป็นบทเรียนในการดำเนินโครงการกับอีก 14,000 โรงเรียนในปีการศึกษาต่อไป
-
สถานศึกษามีความพร้อม 89.20%
-
นักเรียนมีความสุขตื่นตัว 97.13%
-
นักเรียนและครูร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข 95.52%
-
ชุมชน หน่วยงานอื่น เข้ามามีส่วนร่วม 47.78%
-
ผู้ปกครองชุมชนตื่นตัว 65.91%
-
สถานศึกษาจัดกิจกรรมครอบคลุม 4H (Head-Heart-Hand-Health) 100%
-
กระบวนการจัดกิจกรรม พบว่าโรงเรียนและครูได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมทั้ง 4H ให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการผสมผสานกิจกรรมให้สามารถพัฒนาได้หลายด้านในกิจกรรมเดียว ซึ่งแต่เดิมต้องยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาด้านสมอง (Head) ที่จะทำให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้ แต่เมื่อได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ตลอดจนฐานกิจกรรมต่างๆ ของหลายโรงเรียนแล้ว ก็รู้สึกเบาใจ และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้มีความก้าวหน้าและมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
ที่มา : สำนักข่าวรัฐมนตรี