17 เม.ย. 68 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะทำงานเรื่องการบริหารจัดการสอบทุกรูปแบบนั้น
คณะทำงานชุดดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม. 4 เมื่อวันที่ 5-6 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่ง พบว่า ยังมีอุปสรรคที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรฐานของข้อสอบที่ใช้ในการสอบคัดเลือก ซึ่งยังไม่มีความสอดคล้องหรือเป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละโรงเรียน
โดยในบางจังหวัด เช่น จังหวัดนนทบุรี บูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในจังหวัดร่วมกันออกข้อสอบชุดเดียวกัน เพื่อนำมาใช้ในการสอบคัดเลือกชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้กระบวนการสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต่างจากบางพื้นที่ที่โรงเรียนแต่ละแห่งยังออกข้อสอบของตนเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสและทำให้เกิดความลักลั่นได้
O-NET ป.6 มีสอบทั้งหมด 4 วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย (ปรนัยและอัตนัย) วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
O-NET ม.3 มีสอบทั้งหมด 4 วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย (ปรนัยและอัตนัย) วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
(ดูตารางสอบ ปีการศึกษา 2567 คลิกที่นี่)
“อีกหนึ่งปัญหาที่ได้พบจากการลงพื้นที่ คือ มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้าสอบในโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นภาระทั้งในด้านค่าใช้จ่าย และความยากลำบากของทั้งตัวนักเรียนและผู้ปกครองจึงมีแนวคิดในการนำระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาปรับใช้เป็นข้อสอบกลาง เพื่อให้แต่ละโรงเรียนใช้ในการคัดเลือก และอาจจะขอให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง จัดให้มีการสอบออนไลน์ ตามศูนย์สอบกลางในจังหวัดต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ TPAT” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังคงมีข้อท้วงติงในประเด็นที่ว่า ข้อสอบโอเน็ตถูกออกแบบมาเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตลอดหลักสูตรของนักเรียน ขณะที่ข้อสอบคัดเลือกจะเน้นการวัดความสามารถในการเรียนต่อ ซึ่งเป็นคนละเป้าหมายกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการหารือและออกแบบระบบการวัดผลให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการสอบคัดเลือกให้มากที่สุด
โดยขณะนี้ ศธ.ได้เริ่มพูดคุยเบื้องต้นกับโรงเรียนชั้นนำบางแห่ง อาทิ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนในเครือจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ พร้อมที่จะขับเคลื่อนแนวทางนี้ไปพร้อมกับ ศธ.
“หากโรงเรียนชั้นนำเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันกับแนวทางการลดภาระการสอบของเด็ก และยินดีเข้าร่วมจัดตั้งศูนย์สอบในภูมิภาคต่างๆ ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากกระบวนการทั้งหมดสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็มีแนวโน้มว่า นโยบายนี้จะสามารถเริ่มใช้ได้จริงในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ปีการศึกษา 2569” นายสิริพงศ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาข่าว : ข่าวสด