ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนางแมรี โจ เอ. แบร์นาโด-อารากน (H.E. Mrs. Mary Jo A. Bernardo-Aragon) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม
นางแมรี โจ เอ. แบร์นาโด-อารากน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฟิลิปปินส์รู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนับสนุนการศึกษาของฟิลิปปินส์มาโดยตลอด อีกทั้งทรงพระราชทานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษาอิตาอัส ตาปาเลส จังหวัดริซาล, โรงเรียนดากุงปาตัก จังหวัดซูริเกาเหนือ หมู่เกาะมินดาเนา, โรงเรียนประถมศึกษาบานายอน จังหวัดเลย์เต หมู่เกาะมีซายัส และโรงเรียนประถมศึกษาบากองนายอน 2 จังหวัดริซาล ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2559 และได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนในโครงการดังกล่าวด้วย
ปัญหาด้านการจัดการศึกษา ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาด้านการศึกษาคล้ายคลึงกับไทย คือ ยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึงในพื้นที่ชนบท แต่รัฐบาลก็มีนโยบายในการช่วยเหลือเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนให้มีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาด้านภัยแล้งและการขาดแคลนอาหาร ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านการบริจาคทุนทรัพย์และอาหารมาโดยตลอด
ความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง ขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนครูไทย-ฟิลิปปินส์ ทั้งการแลกเปลี่ยนในระยะยาว (Long Term) และระยะสั้น (Short Term)
ด้านนโยบายการสอนภาษาอังกฤษ ฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไป แต่ก็ยังมีบางโรงเรียนที่ใช้ภาษาของฟิลิปปินส์ แม้แต่ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ก็ยังพูดภาษาของฟิลิปปินส์เอง เพื่อแสดงถึงความเป็นชาตินิยมเช่นเดียวกับการที่ไทยใช้ภาษาไทย
ด้านการเมือง ฟิลิปปินส์มีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยฟิลิปปินส์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฟิลิปปินส์จะดำเนินไปได้ด้วยดี และร่วมมือกันสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษาในอาเซียนต่อไป เพราะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในทุกด้าน สำหรับประเทศไทยที่มีความเป็นเลิศด้านการแพทย์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียนได้ในอนาคต
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการศึกษามาหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญและสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
สำหรับการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาอังกฤษนั้น ปัจจุบันมีครูฟิลิปปินส์มาสอนภาษาอังกฤษในไทยจำนวนมาก เนื่องจากประชากรของฟิลิปปินส์สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีและมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามไทยและฟิลิปปินส์มีแรงจูงใจที่ทำให้คนในประเทศพูดภาษาอังกฤษต่างกัน เนื่องจากฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่ไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ จึงทำให้ภาษาอังกฤษของไทยนั้นยังคงประสบปัญหา ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการพัฒนาภาษาอังกฤษของคนไทยด้วยการเร่งผลิตครูไทยที่สามารถสอนภาษาอังกฤษได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ในระดับอนุบาล แต่ก็จำเป็นต้องมีครูชาวต่างชาติช่วยสอนภาษาอังกฤษด้วย
นอกจากนี้ ไทยมีความต้องการที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษากับฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และขอขอบคุณฟิลิปปินส์และทุกประเทศในอาเซียนที่เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของไทย
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ เพื่อหารือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประธานสภาซีเมค
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ที่มา : ข่าวสำนักรัฐมนตรี