ศึกษาธิการ –
นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นจำนวน 3,250 คน มากเป็นอันดับ 6 ของจำนวนนักเรียนนักศึกษาชาวต่างชาติที่เข้าศึกษาในญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงคาดหวังว่าจำนวนนักเรียนนักศึกษาไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งญี่ปุ่นจะดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษากับไทยต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการศึกษาของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ การที่มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนในไทย จึงขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากต้องการกำลังคนมาเสริมธุรกิจในบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่มีความต้องการบุคลากรในตำแหน่งหัวหน้าวิศวกร (Chief Engineer) ที่เป็นชาวไทย อีกทั้งมีเป้าหมายจะผลิตวิศวกรในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 30,000 คน และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการผลิตกำลังคนดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าไทยและญี่ปุ่นจะดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นมีวิธีการผลิตคนที่มีความคล้ายคลึงกัน
สำหรับระบบการสร้างสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ไม่ยาก โดยสิ่งสำคัญคือการพิจารณาความต้องการของบริษัทต่าง ๆ และผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น ซึ่งการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาในไทยไม่ได้เป็นการทำประโยชน์เพื่อบริษัทญี่ปุ่น แต่เป็นการพัฒนาเพื่อคนไทยด้วย
ในส่วนของการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษามาโดยตลอด ด้วยการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพราะการลงทุนด้านการศึกษาคือการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่าที่สุด
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งวัฒนธรรมของไทยและญี่ปุ่นก็มีความคล้ายคลึงกัน ตลอดจนทั้งสองประเทศยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเช่นเดียวกัน
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญแล้วและประชากรในประเทศมีระเบียบวินัยสูง จึงมีความสนใจที่จะศึกษาว่าญี่ปุ่นมีการจัดระบบการศึกษาอย่างไรที่ทำให้คนในประเทศมีระเบียบวินัย และประเทศก็มีความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้านด้วย จึงได้มีการส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอาชีวศึกษาของญี่ปุ่นที่ใช้รูปแบบโคเซ็น (Kosen) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ถือเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีสถาบันอาชีวศึกษา 5 แห่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับโคเซ็นในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาต่อไป
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยต้องเร่งผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อธุรกิจของญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตขึ้น เพราะในอดีตค่านิยมการเรียนอาชีวศึกษาของไทยไม่ดีนัก แต่รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญด้านอาชีวศึกษามาก ทำให้ค่านิยมการเรียนในระดับอาชีวศึกษาดีขึ้น โดยมีจำนวนเด็กเข้าเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น หากไทยและญี่ปุ่นได้มีความร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา ก็จะทำให้ไทยผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของญี่ปุ่นด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับการที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้มีโอกาสร่วมมือกับญี่ปุ่นในการผลิตหัวหน้าวิศวกรตามที่ญี่ปุ่นต้องการ โดยจะพิจารณาร่วมกันจัดทำหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพวิศวกรได้ทันทีภายหลังจบการศึกษา ซึ่งในขณะนี้ไทยได้มีการจัดระบบการศึกษาแบบ Work Integrated Learning : WIL กล่าวคือ การเรียนและฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการจริงก่อนจบการศึกษา เพื่อพัฒนาฝีมือตามความต้องการของสถานประกอบการนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้เรียนที่จะสามารถประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษาได้
ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ทดสอบคุณสมบัติเพื่อวัดความสามารถของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นนั้น เป็นความคิดที่น่าสนใจเพราะมาตรฐานของญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก หากทั้งสองฝ่ายคิดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไทยและญี่ปุ่นได้ประโยชน์ร่วมกัน ขอให้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในรายละเอียดเชิงลึกเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี