สอบเข้ามหาวิทยาลัย

6 ทูตวัฒนธรรมอาเซียน บ่มทักษะวิชาชีพ "ภาษาแจ่ม-สานสัมพันธ์เจ๋ง"

UploadImage


             อีกกิจกรรมไฮไลต์ของ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เวทีเฟ้นหานักศึกษาที่มีศักยภาพเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนด้านประชาสัมพันธ์กิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย


             ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดี มสด. ขยายความว่า ทูตวัฒนธรรมอาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หรือ SDU ASEAN Ambassador เป็นโครงการที่มสด.ริเริ่มเป็นแห่งแรก และดำเนินการจนถึงปี 2559 นี้เป็นรุ่นที่ 3 ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีความรู้ในวิชาชีพ มีทักษะในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการมีจิตสาธารณะ โดยปีนี้มีนักศึกษาร่วมชิงตำแหน่ง 47 คน แต่ละคนต้องผ่านการวัดดีกรีความสามารถจนผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่เฟ้นจนเหลือเพียง 6 คนได้ครองตำแหน่ง เพื่อเป็นตัวแทน มสด.ร่วมกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งปีนี้มีทั้งงานประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับ South East Asian Association of Institutional Research ครั้งที่ 16 เดือน ก.ย. การร่วมประชุม ASEAN Youth Summit 2016 รวมถึงการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมมหาวิทยาลัย


            อยากรู้แล้วละซิว่า 6 ทูตวัฒนธรรมอาเซียน มสด.มีใครบ้าง และแต่ละคนมีมุมมองเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอย่างไร ว่าแล้วก็ตาม “ยายรหัส” ไป เจ๊าะแจ๊ะ กันเลย


            เริ่มที่หนุ่มมาดดี ดีกรีความสามารถเพียบ “ปอนด์” ศิริชัย หน่ายอินทร์ ปี 2 หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ เล่าว่า “1 ปีที่ผ่านมาผมสั่งสมประสบการณ์ด้านภาษาจากการทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ และพนักงานร้านอาหารย่านถนนข้าวสาร เพื่อเรียนรู้การใช้ภาษากับชาวต่างชาติ ผมมองว่านักศึกษาไทยยังไม่ค่อยกล้าแสดงออกในการพูดภาษาอังกฤษ บ่อยครั้งที่รู้ว่าชาวต่างชาติพูดอะไร แต่ไม่กล้าสื่อสาร จึงอยากให้ทุกคนละลายความกลัวในใจ กล้าสนทนาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิด เพราะประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว จึง จำเป็นที่เยาวชนไทยจะต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ทั้งด้านภาษา และการประกอบอาชีพ”


            ต่อด้วยหนุ่ม “ลีฟ” ศิลป์ศรุต ชาญจำลอง เฟรชชี่ปี 1 หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บอกว่า “การแข่งขันดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีในการลองทำกิจกรรม นอกจากการเรียนในห้อง หลักการเรียนของผมนั้นมองว่า หากอ่านแต่หนังสือแล้วไม่ออกไปไหนเลย หรือไม่เรียนรู้โลกใบนี้ คุณจะกลายเป็นคนมีความคิดแคบ และประชาคมอาเซียนได้เกิดขึ้นแล้ว จึง อยากให้ทุกคนเปิดใจและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงครับ”


            มาที่สาวคมเข้มมากความสามารถ ลูกครึ่งไทยอินเดีย กวีตา กุมาร “ทวิ้งเคิ้ง” ปี 1 หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ แสดงไอเดียว่า “ทูตวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ต้องรู้จักแบ่งเวลา คอยช่วยงานมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับการเรียน สิ่งสำคัญที่เยาวชนไทยยังขาดคือ การตรงต่อเวลา สำหรับตัวเองสามารถพูดได้ 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ สเปน เยอรมัน และภาษาฮินดู ทั้งยังช่วยงานที่บ้านซึ่งทำธุรกิจ บ่อยครั้งได้พบปะผู้คนหลายเชื้อชาติ ทำให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง เพื่อจะได้ช่วยเหลือครอบครัวเต็มที่ ประกอบกับการเปิดประชาคมอาเซียน คนที่ได้ภาษามากกว่าจะมีแต้มต่อ จึงอยากฝากถึงเพื่อนๆ ควรเรียนรู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน”


            ขณะที่ “กาน” ณัฐกาญจน์ สุรัชนีพดล ปี 1 คณะพยาบาลศาสตร์ เสนอมุมมองต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยว่า “เป็น ส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการบริหารต่างๆ ให้กับประเทศสมาชิก อีกทั้งเรายังได้เรียนรู้ความหลากหลายของชาติอื่นๆ ทั้งวัฒนธรรม สังคม การใช้ชีวิต และการศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบสัมผัสจริง ไม่ใช่แค่รับรู้จากโลกอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้การจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง มสด.และมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศค่ะ”


              ขยับไปเม้าท์กับ พิชญ์สินี จั้ง “โยกี้” ปี 1 หลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ โรงเรียนการเรือน บอกว่า “การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นการผลักดันให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น เปิดกว้างการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งทูตวัฒนธรรมสวนดุสิตนั้น จะต้องรับผิดชอบสร้างสัมพันธไมตรีกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และเป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาประชาคมอาเซียน รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมค่ะ”


               ปิดท้ายกับ ชัชลัย หมินหมัน “ย้ะห์” ปี 1 หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ กล่าวว่า “การเปิดประชาคมอาเซียนของประเทศไทยนั้น ถือเป็นการเปิดกว้างของโอกาสด้านต่างๆ ที่สำคัญ ประชาคมอาเซียนคือ การอยู่รวมกันเหมือนครอบครัว สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้ค่ะ”

         
               “ยายรหัส” เชื่อว่า ประสบการณ์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง จะช่วยให้การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียนมีความเข้าใจและแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น 
ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่มเพาะความเป็นเยาวชนไทยคุณภาพสู่ประชาคมอาเซียน.

 

ยายรหัส/รายงาน

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์