สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เดินหน้าลุย “สะเต็มศึกษา” ใน 2,250 โรงเรียนทั่วประเทศ

 

                น้องๆ คงได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ “สะเต็มศึกษา” กันมาแล้วบ้าง เพราะเราเริ่มมีการใช้สะเต็มศึกษากันมาสักพักแล้ว และเราเองก็เคยนำเสนอเรื่องนี้มาแล้ว แต่วันนี้เราจะมาลงรายละเอียดกันหน่อย ว่าสะเต็มศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ หน้าตาของสะเต็มศึกษาที่เป็นที่พูดถึงกันในขณะนี้ เป็นแบบไหน
 
UploadImage
 
                พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ว่า หลักการของการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา คือทำให้เด็กได้รู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุใช้ผล ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาจะเป็นการฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กเพื่อการทำงานในอนาคต หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 และการเรียนในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กสู่การปฏิบัติจริง ดังนั้นตนจึงอยากให้ขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นรูปธรรม
 
UploadImage

                ความหมายของสะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน  การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด  ตั้งคำถาม  แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้
 
                จุดประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์  และเห็นว่าวิชาเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกวัน  
 
                การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มมีลักษณะ  5  ประการ ได้แก่
(1) เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ
(2) ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาทั้ง 4 กับชีวิตประจำวันและการทำอาชีพ 
(3) เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 
(4) ท้าทายความคิดของนักเรียน
(5) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และความเข้าใจที่สอดคล้องกับเนื้อหาทั้ง 4 วิชา 
 
                นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.จะเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาในปีการศึกษา 2559 ใน 2,250 โรงเรียนทั่วประเทศโดยมีเป้าหมายจะอบรมครูใน 3 วิชา ได้แก่วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จำนวน 17,220 คน ในเดือน พ.ค.2559 โดยมุ่งเน้นสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความรู้ความเข้าใจถึงการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กอย่างไรบ้าง เพื่อให้ครูเกิดความ รู้สึกที่ดีกับเรื่องสะเต็มศึกษาก่อน ส่วนหลักสูตรที่นำมาใช้อบรมทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้รับผิดชอบ.
UploadImage
 
ข่าวและข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์, สะเต็ฒศึกษา ประเทศไทย