สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เงินเดือน ปวช./ปวส. แซง ป.ตรี ในสถิติอัตราการเพิ่มของเงินเดือน ตั้งแต่ 2552 -2558

UploadImage

                ส.อ.ท. เผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 พบค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. มีอัตราเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากมีความต้องการในตลาดมากขึ้น คาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มจะสูงกว่าอัตราค่าจ้างวุฒิปริญญาตรี
 
                นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด 110 แห่งใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า อัตราการจ่ายค่าจ้างขั้นต้นโดยเฉลี่ยของวุฒิ ปวช. อยู่ที่ 10,120 บาท ,ปวส. 11,383 บาท ปริญญาตรี 15,491 บาท ปริญญาโท  21,047 บาท และปริญญาเอก 35,985 บาท
 
                ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ อัตราค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ระหว่างปี  2558 กับปี 2557 จะพบว่า วุฒิปริญญาตรี มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 9.49% แต่ถ้าเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552 -2558) พบว่า วุฒิปวช.มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85%
 
                จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตที่ค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าวุฒิปริญญาตรี เนื่องจากความต้องการในตลาดแรงงานมีสูงกว่า รวมทั้งทิศทางของตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตจะเน้นรับคนเข้าทำงานโดยดูจากทักษะ และความสามารถมากกว่าที่จะดูเพียงแค่ใบปริญญา หรือระดับการศึกษา ทำให้ในอนาคต แรงงานที่จบการศึกษาจากปริญญาตรี อาจประสบปัญหาตกงานได้
 
                นอกจากนี้ ผลสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.04% ส่วนการจ่ายโบนัสประจำปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เดือน และมีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ บริษัทต่างๆเริ่มมีการปรับนโยบายจ่ายโบนัสตามผลงานมากขึ้น ส่วนอัตราการลาออกของพนักงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27% จากสาเหตุ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ เป็นอันดับหนึ่ง
 
UploadImage

ข่าวจาก : JOBBKK