สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สพฐ.เปิดตัวเลขอัตรากำลัง ครูขาด-ครูเกิน

UploadImage

             สพฐ.เปิดตัวเลขอัตรากำลัง ครูขาด-ครูเกิน พร้อมชี้เหตุที่มาของปัญหาการบริหารงานบุคคล มั่นใจ“กศจ.”ใช้เป็นข้อมูลแก้ปัญหาได้
             วันนี้(6เม.ย.)นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ส่งข้อมูลสภาพปัจจุบันของปัญหาอัตรากำลังครูให้พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการบุคลากรในภูมิภาค  เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถเกลี่ยคนข้ามเขตพื้นที่ฯได้ ทำให้สพฐ.มีปัญหาการบริหารงานบุคคลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสอนไม่ตรงสาขา ครูไม่ครบชั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ขณะที่ครูก็กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ทั้งที่จำนวนครูของสพฐ.ไม่ได้ขาดมากเหมือนในอดีต โดยปัจจุบัน สพฐ.มีนักเรียนทั้งระบบประมาณ 7 ล้านคน มีครูประมาณ 4 แสนคน คิดเป็นอัตราส่วนครู 1 คนต่อเด็ก 18 คน 
             เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับตัวเลขภาพรวมครูทั้งอัตรากำลังที่มีอยู่กับการบรรจุจริง พบว่า ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) มีอัตรากำลัง 293,045 อัตรา บรรจุจริง 302,008 อัตรา เกินอยู่  8,963 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มี 128,357 อัตรา บรรจุจริง 119,693 อัตรา ขาด 8,644 อัตรา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) มี 9,717 อัตรา บรรจุจริง 4,428 อัตรา ขาด 5,529  เมื่อมาดูตัวเลขโรงเรียนที่มีครูขาด-ครูเกิน พบว่า สพป. ครูขาด 6,570 โรง เกิน  12,409 โรง ครูพอดี 9,009 โรง สพม. ครูขาด 1,188 โรง เกิน 955 โรง พอดี 217 โรง ส่วนสศศ. ขาด 162 โรง เกิน 10 โรง พอดี 2 โรง
           “ส่วนตัวเลขครูสอนไม่ตรงสาขานั้น สาขาปฐมวัย  9,750 คน ภาษาไทย 8,643 คน คณิตศาสตร์ 8,377 คน วิทยาศาสตร์ 2,437 คน ศิลปศึกษา 1,149 คน โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน120 คนลงมา มีครู 84,941 คน มีห้องเรียน 120,632 ห้อง ยังขาดครูอีก 35,691 ห้อง โรงเรียนขาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีครู 314,858 คน 224,067 ห้องเรียน เท่ากับว่ามีครูเกินห้องเรียนถึง 90,790 คน”นายการุณกล่าวและว่า จากตัวเลขนี้จะเห็นว่า ครูของ สพฐ.ไม่ได้ขาด แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)จะนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาเกลี่ยครูได้อย่างเหมาะสมต่อไป 


 
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์