เกิดเป็นหญิงไทย เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง คำกล่าวแต่โบราณ เปรียบหญิงไทย งานบ้านก็สามารถ แต่เมื่อถึงคราวต้องออกรบพุ่ง ก็ใจหาญไม่แพ้ชายอกสามศอก เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และ ณ พ.ศ.2559 นี้เอง หน้าประวัติศาสตร์กองทัพอากาศไทย กำลังพลิกโฉมไปสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังชาติไทยของเรา กำลังจะมีเสืออากาศหญิงชุดแรก เข้ามาประจำการ ปกป้องดูแลน่านฟ้า สยามประเทศของเรา
เสืออากาศหญิงชุดแรก จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? วิสัยทัศน์ที่นำไปสู่การเปิดรับผู้หญิง เข้าประจำการเป็นนักบินในกองทัพอากาศ เป็นครั้งแรก คืออะไร? การเจริญเติบโตในกองทัพ ของเหล่าเสืออากาศหญิง ชุดปฐมฤกษ์นี้ จะเทียมทัด เหล่าลูกทัพฟ้าที่เป็นชายหรือไม่? วันนี้ นายฮกหลง แห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพา สาวแกร่งทุกท่าน ไปรับฟังทุกคำตอบที่ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ก่อนคิดไปสมัครเป็นลูกทัพฟ้า เพื่ออาสารับใช้มาตุภูมิอันเป็นที่รักยิ่งของเรา
นายฮกหลง ขอเริ่มปฐมบท การสร้างเสืออากาศหญิงไทยชุดแรก กับ พล.อ.ท.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหารอากาศ ผู้คลุกคลีกับโครงการนี้ มาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งท่านได้ให้คำตอบ กับ นายฮกหลง ว่า เหตุผลที่กองทัพเปิดรับสมัครนักบินหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเรื่องการสูญเสียนักบินไปให้กับภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง ประกอบกับปัจจุบันทางกองทัพมีการปฏิบัติภารกิจ การให้ความช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น จึงต้องการกำลังคนเข้ามาเสริมในจุดนี้
"ปัจจุบัน ยอมรับว่า เราสูญเสียนักบินไปให้กับภาคเอกชนค่อนข้างสูง เพราะความแตกต่างระหว่าง ค่าตอบแทนของทหารและพลเรือน มีค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ.... อยู่กับกองทัพ ค่าตอบแทนไม่ถึงแสน แต่เอกชนสามารถทุ่มค่าจ้างซื้อตัวได้สูงมากกว่า 3 เท่า ของที่กองทัพให้ โดยเฉพาะหากเป็นนักบินที่มีประสบการณ์สูง ๆ แทบจะเหมือน นักฟุตบอลระดับดารา ที่มีหลายสโมสร แย่งประมูลทุ่มเงินซื้อตัวในราคาที่สูงมาก"
รองเสนาธิการทหารอากาศ เล่าให้นายฮกหลง ฟังถึงที่มาที่ไปโครงการนี้ต่อไปว่า เมื่อกองทัพอากาศมีแนวคิดรับสุภาพสตรี เข้ามาเป็นนักบิน ก็ต้องไปขอแก้ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีข้อบังคับเอาไว้ว่า การบรรจุทหารหญิง จะสามารถทำได้เฉพาะในส่วนหน้าที่ไม่ใช่การทำการรบโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่สามารถบรรจุทหารหญิง ทำหน้าที่เหมือนทหารชายได้ 100 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในเหล่าทหารนักบิน ที่ผ่านมา ตามข้อบังคับ ก็จะไม่มีการบรรจุนักบินหญิง กระทั่ง ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนเรา อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างเริ่มมีนักบินหญิง โดยเฉพาะ สิงคโปร์ นั้น ถึงขนาดมีนักบินหญิง ประจำเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอย่าง เอฟ 15 และ เอฟ 16 ด้วยซ้ำ
ทางกองทัพอากาศ จึงมีแนวคิดในเรื่องนี้ และได้ประสานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ยกเว้นข้อบังคับเรื่องการบรรจุนักบินหญิง กระทั่งได้รับการอนุมัติ จึงเริ่มเดินหน้าโครงการเต็มตัว
โดย พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ เล่าให้นายฮกหลง ฟังว่า ในชุดปฐมฤกษ์เสืออากาศหญิงไทย จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นหญิงโสด สัญชาติไทย
2.อายุ 18-28 ปี (เกิด พ.ศ.2531-2541)
3.จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกรดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.8
4.เป็นผู้มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial pilot license - CPL)
5.ผ่านการทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า Level 4
6. ขนาดร่างกายเหมาะสมกับการเป็นทหาร
7. ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 162 เซนติเมตร
8. ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
9.ไม่เป็นผู้เสพยาเสพติด
10.ไม่เป็นผู้ที่มีรอยสักร่างกายที่เห็นเด่นชัด
11.ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
12.ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ บุคคลล้มละลาย
13.ไม่เป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา
14.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างพักราชการหรือสำรองราชการอันเนื่องจากความผิดหรือหนีราชการ
15.ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกปลดออกจากราชการเพราะความผิด หรือ ถูกไล่ออกจากราชการ
ส่วนความพร้อมด้านร่างกาย เนื่องจากต้องมีการผ่านการอบรมเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร นั้น ก็คงเหมือนๆ กับ ที่เวลากองทัพเปิดรับสมัครข้าราชการทหารทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจ คงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้มากนัก
โฆษก ทอ. กล่าวต่อไปว่า โดยโครงการรับเหยี่ยวเวหาหญิง นี้ เบื้องต้นตั้งไว้ 3 ปี โดยในปีแรกจะมีการรับเพียง 5 คน ก่อน ส่วนในปี ถัดๆ ปี จะมีการประเมินผลและปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไปเรื่อยๆ
ด้านความคาดหวังสำหรับโครงการนี้ กองทัพอากาศเชื่อมั่นว่า เสืออากาศหญิงของเราในยุคบุกเบิกนี้ จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถได้ทัดเทียมหรือไม่ต่างจากนักบินชายในกองทัพได้
แต่อย่างไรก็ดี เสืออากาศหญิงรุ่นแรกนี้ จะถูกตั้งเป้าหมาย ไว้สำหรับการทำหน้าที่เป็นนักบินลำเลียงก่อน ซึ่งโดยธรรมชาติของการทำหน้าที่เป็นนักบินลำเลียง ก็จะมีการบินอยู่ใน Cockpit (ห้องนักบิน) ที่มีกัปตัน มีนักบินผู้ช่วยอยู่ ส่วนในอนาคต จะมีผู้หญิง เข้าไปทำหน้าที่เป็นนักบินขับไล่ เช่น เครื่องบินรบ เอฟ 16 หรือไม่ นั้น ในช่วงแรกนี้คงยังไม่ขนาดนั้น แต่ในอนาคตส่วนตัวเชื่อว่า จะมีผู้หญิงไทย ที่มีศักยภาพถึงขนาดนั้นได้แน่
พล.อ.ท.ชวรัตน์ กล่าวเสริมต่อไปว่า สำหรับ เสืออากาศหญิงรุ่นแรก ที่มีการเปิดรับสมัคร ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ มีใบอนุญาต CPL แล้วนั้น เมื่อผ่านการคัดเลือก จะมาฝึกบินกับทางกองทัพอากาศ อีกประมาณ 40 ชั่วโมง เพื่อปรับการบิน มาเป็นการปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งตามกำหนดคร่าวๆ ก็น่าจะใช้เวลาในการฝึกประมาณ ไม่เกิน 2 เดือน ทอ. ก็จะได้เสืออากาศหญิง มาทำหน้าที่ในกองทัพได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ทางกองทัพอากาศ มีแผนสำรองในกรณีที่อาจมีผู้มาสมัคร หรือ ผ่านการทดสอบ นักบินหญิงครั้งแรกในประวัติศาตร์ ไม่ครบอัตรา 5 คน ที่ตั้งไว้แล้ว โดยหากไม่ครบอัตรา ส่วนที่เหลือนี้ ทางกองทัพ จะเปิดรับสมัครจากข้าราชการหญิงในกองทัพอากาศ ที่มีความสนใจอยากจะมาฝึกเป็นนักบินหญิง เพื่อให้ครบจำนวนต่อไป โดยในรอบที่ 2 นี้ เท่าที่วางเอาไว้เบื้องต้น อาจเป็นผู้ที่ไม่จำเป็นต้อง เป็นผู้มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial pilot license - CPL)
จากนั้น กองทัพอากาศ จะส่งไปเข้าเรียนการบิน 200 ชั่วโมง แต่จะเป็นการแยกส่วน เพื่อไม่ไปมีผลกระทบ กับ โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายเรืออากาศ หรือ โรงเรียนการบิน ของ ทอ. เนื่องจากในส่วนของนักบินหญิงนี้ ไม่ได้มุ่งหวังไปที่การปฏิบัติการรบโดยตรง
พล.อ.ท.ชวรัตน์ ตอบคำถามนี้กับ นายฮกหลง ด้วยความมั่นใจว่า เท่าที่ได้รับฟังเสียงตอบรับจากโรงเรียนการบินต่างๆ ก็พบ ว่า มีสุภาพสตรี ที่มีคุณสมบัติครบให้ความสนใจมากพอสมควร โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่มีฐานะทางบ้านค่อนข้างดี ไม่ได้มีความเดือดร้อนเรื่องรายรับ ก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกันกับทางกองทัพอากาศ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้
รองเสนาธิการทหารอากาศ ครุ่นคิดสักพัก ก่อนตอบ นายฮกหลง ว่า สำหรับในรุ่นแรกของไทยนี้ คงยังเร็วเกินไป เพราะแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาเอง รุ่นแรกๆ ของนักบินหญิงเค้า ก็ยังไม่ได้มีการบรรจุนักบินรบ เพราะต้องฝึกให้ไปเป็นนักบินลำเลียงก่อน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน อย่างน้อยๆ ส่วนตัวมองว่า น่าจะอีกสักประมาณไม่น้อยกว่า 5 - 10 ปี นับจากนี้ กองทัพอากาศ จึงจะมีนักบินรบหญิงคนแรก ของประเทศไทยได้
สำหรับคำถามนี้ โฆษก ทอ. ให้ความกระจ่างกับ นายฮกหลง ว่า เป็นเพราะที่ผ่านมา ระเบียบของกองทัพอากาศ จะรับนักบิน เฉพาะผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออากาศ หรือ นักบินนายเรืออากาศที่ไปเรียนต่างประเทศ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลก ที่ผ่านมา นักบินกองทัพอากาศจะมีแต่ผู้ชาย
ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ กล่าวอย่างหนักแน่นตามประสาชายชาติทหารกับ นายฮกหลง ว่า โครงการนี้ได้รับความสนใจจากบรรดาสุภาพสตรี จำนวนมาก เพราะการเข้ารับราชการในกองทัพอากาศ จะมีความแตกต่างจาก การเข้าทำงานเป็นนักบินพาณิชย์ พอสมควร อย่างน้อยที่สุด ที่น่าจะเห็นได้ชัดก็คือ ความภาคภูมิใจที่จะได้เข้ามาเป็นนักบินของกองทัพ
สุดท้าย ทั้ง พล.อ.ท.ชวรัตน์ และ พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ ประสานเสียงการันตีกับ นายฮกหลง อย่างหนักแน่น ว่า การเปิดรับสมัครนักบินหญิงเข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจ อย่าได้ไปหลงเชื่อการแอบอ้างใดๆ ที่ว่า จะสามารถช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถเข้าเป็นนักบินหญิงรุ่นบุกเบิกนี้ อย่างเด็ดขาด เพราะคนที่มีความสามารถและคุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้น จึงจะผ่านการคัดเลือกเข้ามารับราชการ
สำหรับเส้นทางการเจริญเติบโตในการรับราชการทหาร ของเหล่าเสืออากาศหญิงรุ่นบุกเบิกนี้ ทั้งพล.อ.ท.ชวรัตน์ และ พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ ยืนยันอีกเช่นกัน ว่า เสืออากาศหญิง จะมีโอกาสเจริญเติบโตในราชการ เหมือนเหล่านักบิน ทั่วๆ ไป ไม่มีความแตกต่างกันแน่นอน
ด้าน น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 1 นครราชสีมา นักบินรบมากฝีมือ อีกหนึ่งตำนานของกองทัพอากาศไทย เจ้าของนามเรียกขาน Hollywood ให้ทรรศนะกับ นายฮกหลง ว่า ในรุ่นปฐมฤกษ์เสืออากาศหญิง นี้ ส่วนตัวมองว่า ทางกองทัพคงให้เริ่มต้นที่เครื่องบินลำเลียง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นั่งคู่ไปก่อน ส่วนในอนาคตต่อไป คงต้องมีการประเมินกันอีกทีว่า จะมีขีดความสามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับไหน แต่สำหรับส่วนตัว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะแม้ผู้หญิงอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เมื่อสมรสแล้วอาจจะมีบุตร แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว ศักยภาพก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ชายเลย
สุดยอดนักบินรบไทย ให้ทรรศนะว่า ส่วนใหญ่น่าจะมีความใกล้เคียงกัน เพราะต้องผ่านการตรวจสภาพร่างกาย ตามมาตรฐานทั่วไป แต่แน่นอน เมื่อเข้ามารับราชการทหาร แน่ๆ เลย ก็คงต้องไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหมวด เพื่อปรับจากพลเรือนไปเป็นทหาร เพื่อให้เข้าใจในวัฒนธรรม ประเพณี และวินัย ของทหาร
น.อ.ระวิน กล่าวว่า ในอนาคต ประเทศเราต้องมีได้แน่ เพราะเวลานี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับเรา หรือ อย่าง กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต่างก็มี นักบินรบที่เป็นผู้หญิงได้แล้ว แต่ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ และเราควรพิจารณาก็คือ แม้จะมีแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนที่ไม่มากนัก เพราะฉะนั้น ส่วนตัวมองว่า เราน่าจะมองในบริบทต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงสำหรับส่งเสริมให้มีนักบินรบที่เป็นผู้หญิงให้มากขึ้น
เจ้าของนามเรียกขาน Hollywood กล่าวต่อไปว่า เมื่อคุณสมบัติในเชิงการบินพร้อมแล้ว สำคัญอย่างเดียวสำหรับเข้ามารับราชการทหาร ก็คือ "ใจ" อย่างเดียว หากใจพร้อม ก็เข้ามาร่วมกันรับใช้ประเทศชาติได้เลย ส่วนตัวเอง ขออนุญาตใช้คำว่า MUST หรือ แนะนำเลย สำหรับ สุภาพสตรีที่มีคุณสมบัติครบ เพื่อขอให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศ ทั้งนี้ เพราะถือเป็นโอกาส และประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายนัก สำหรับการก้าวเข้ามาเป็นนักบินทหาร แถมได้เป็นถึงนายทหารชั้นสัญญาบัตร ประดับยศ เป็น เรืออากาศตรี
น.อ.ระวิน ใช้ความคิดชั่วครู่ ก่อนตอบคำถามนี้ ของ นายฮกหลง ว่า "อยากให้คิดแบบนี้ครับว่า เมื่อเป็นข้าราชการทหาร รายได้ ค่าตอบแทน ก็ต้องเป็นแบบทหาร แม้อาจจะไม่เทียมเท่ากับสายการบินพาณิชย์ แต่ในแง่ของสวัสดิการต่างๆ กองทัพอากาศก็สามารถให้ในสิ่งที่ สายการบินพาณิชย์ ให้ไม่ได้เช่นกัน ซึ่งโดยส่วนตัว การันตีให้ได้เลยว่า รายได้จากการเป็นนักบินทหาร กับค่าครองชีพในประเทศของเรา หากไม่ฟุ่มเฟือยเสียอย่าง ก็สามารถอยู่ได้แบบสบายๆ ได้เลย"
ประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลหญิงเข้ารับราชการเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เหล่าทหารนักบิน
ขอบคุณภาพประกอบจาก : กองทัพอากาศ
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์