สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รื้อโครงสร้างศธ.ส่งผลให้'ครู'เป็นกบที่ต้องเลือกนาย

UploadImage

           รื้อโครงสร้างศธ.ส่งผลให้'ครู'เป็นกบที่ต้องเลือกนาย : นายกิตติ ทวยภา ศึกษานิเทศก์ สพป.มค.1 E-mail vongjagpoon@gmail.com

             คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และคำสั่ง ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

             จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2546 ในคราวนั้นมีการบัญญัติกฎหมายที่สำคัญอยู่ 3 ฉบับ เพื่อปฏิรูปการศึกษา คือ 1. พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 2. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และ 3. พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การรวมเอาการศึกษาทุกระดับ จากระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษามาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีความคาดหวังว่าจะเป็น “เอกภาพ” โดยยุบ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กรมสามัญศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการ มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการบริหารจัดการเป็นเขตพื้นที่การศึกษา

             ก่อนมีคำสั่ง คสช. มีเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 225 เขต มีกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ คือ

             (1) พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีองค์กรที่สำคัญ เรียกชื่อว่า คุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ปัจจุบันกรรมการที่มาจาก พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ได้ถูกยุบ โดย คสช. ไปแล้ว โดยกำหนดให้ครูมีใบประกอบวิชาชีพและได้รับเงินวิทยฐานะ อาทิ ครูชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท เป็นต้น

             (2) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีสาระสำคัญ คือ ให้มี "คณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา" เรียกโดยย่อว่า “ก.ค.ศ.” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และมีผู้แทนครู มีผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ ในมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกโดยย่อว่า  “อ.ก.ค.ศ.” ซึ่งถูกยุบตามคำสั่ง คสช. ที่ 10/2559 โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย

             2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านบริหารงานบุคคล/การศึกษา/การเงินการคลังและด้านกฎหมาย 4 คน

             2.2 กรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน ได้แก่ ผู้แทนคุรุสภา และผู้แทน ก.ค.ศ.

             2.3 ผู้แทนจากข้าราชการครู จำนวน 3 คน คือ ตัวแทนผู้บริหาร ตัวแทนครูผู้สอนและตัวแทนบุคลากรอื่นทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค(1) และ (2) มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็น กรรมการและเลขานุการ         คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบาย พิจารณาบรรจุแต่งตั้ง เห็นชอบให้ความดีความชอบผู้บริหารสถานศึกษา เรื่องเกี่ยวกับวินัย การออกจากราชการ อุทธรณ์ ร้องทุกข์ ส่งเสริมสนับสนุนความก้าวหน้าข้าราชการครู กำกับดูแลประเมินผลการบริหารงานบุคคล จัดทำและพัฒนาข้อมูลข้าราชการครู

             3. พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มีสาระสำคัญคือการจัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยแบ่งเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ส่วนภูมิภาคได้ถูกยุบไปตาม คำสั่ง คสช. ที่ 11/2559)

             มีประเด็นสำคัญคือ ในหมวด 2 เรื่องการจัดระเบียบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยในมาตรา 37 กำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมีคณะกรรมการระดับต่างๆ จากระดับโรงเรียนจนถึงระดับ สพฐ. ฯลฯ (ส่วนภูมิภาคได้ยุบตาม ประกาศ คสช. ที่ 11/2559)

             การดำเนินงานที่ผ่านมาจากปี 2546 จนถึงปัจจุบันทำให้การจัดการศึกษาของไทยระดับขั้นพื้นฐาน มีความก้าวหน้า ครูมีการพัฒนาตนเองไปสู่มาตรฐานสากล การบริหารจัดการทุกระดับมีผู้แทนครูเข้าร่วมในการบริหารจัดการ เช่น เป็นคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ก.ค.ศ. และ อ.ก.ค.ศ. เป็นต้น ปฏิบัติงานที่ผ่านมา ได้มีประสิทธิภาพ สนองตอบความต้องการของข้าราชการครู และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ครูมีความก้าวหน้าทั้งด้านวิทยฐานะและด้านสวัสดิการ เป็นที่ยอมรับของสังคม ครูได้รับเงินวิทยฐานะ มีขวัญกำลังใจในการทำงาน

             แต่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 การบริหารในระดับภูมิภาค มีการเปลี่ยนแปลงตามคำสั่ง คสช. และวันที่ 22 มีนาคม 2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแถลงข่าวการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการ มีประเด็นสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ เพื่อการบูรณาการงานระดับเขตพื้นที่, ช่วงการบังคับบัญชา, เพิ่มความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการและความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีนักวิชาการ นักบริหารและข้าราชการครู ตั้งข้อสังเกตหลายประการ อาทิ

             ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดี มรภ.มหาสารคาม กล่าวว่า มีข้อดีและข้อสงสัยดังนี้ 1.ทำไมไม่ปรับ/ยุบ ก.ค.ศ. เพราะเป็นต้นตอของปัญหากฎหลักเกณฑ์ วิธีการที่ผิดพลาดมาตลอด 2.ทำไม ไม่ปรับ/ยุบ เขตพื้นที่การศึกษา เพราะขาดประสิทธิภาพ มีขนาดใหญ่ เทอะทะ ซ้ำซ้อนกับ ศึกษาธิการจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ ระดับการบังคับบัญชาซ้ำซ้อนกับ กศจ. 3. สพฐ.ยังถืองบประมาณและเป็นเจ้าของโครงการ(เป็นช่างตัดเสื้อ 1 ขนาด ให้คนใส่เหมือนกันทั้งประเทศ) เรียกครูออกนอกห้องเรียน ควรให้โรงเรียน ครู นักเรียน เป็นฐานในการพัฒนา 4. ส่วน กศจ.จะต้องไม่ใช่ตรายางหุ่นเชิด เป็นไปรษณีย์ อกศจ. ถ้าหากมีความเห็นว่า อ.ก.ค.ศ.เขตที่ผ่านมา ทำให้มีรอยด่างอย่าเดินตามรอยเก่า/ ก.ค.ศ.จะต้องมีวิธีคิดวิธีทำงานที่เปลี่ยนไป ออกกติกาใหม่

             ดร.ธนภณ พันธ์ศรี มองว่าเรื่องทุกอย่างของครูผลได้เสียจะช้า เพราะมีองค์กรเดียวที่ภาระงานมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีเวลามาทำหรือไม่ การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ถ้าผู้บริหาร ข้าราชการครูไม่ได้รับความยุติธรรม คงหวังอะไรจากครูยาก ผลตามมาคือเด็กต้องรับกรรม

             คุณครูทรงศักดิ์ สุขบันเทิง อดีต อ.ก.ค.ศ. กล่าวว่า เป็นการถ่ายโอนอำนาจจากครูบริหารครูกันเอง ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

             ขณะที่ ดร.สุภกิจ ศรีบัดถา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ. และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง บอกสั้นๆ ว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้เป็นระบบมากขึ้น แต่อาจเป็นการรวมศูนย์อำนาจมากกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้นคณะคุณครูต้องทำงานอย่างมืออาชีพและมุ่งเน้นคุณภาพ เพราะคุณภาพเท่านั้นจึงจะยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่งคุณภาพการศึกษาก็คือการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าระดับใดก็ตาม

             ด้าน นางวันทนา สมภักดี ศึกษานิเทศก์และนักศึกษาปริญญาเอกนิเทศการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างไร ในส่วนของการศึกษานิเทศก์ ต้องลงพื้นที่เพื่อปลุกจิตวิญญาณของครู ให้มีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกันกับผู้บริหาร ครู นักเรียน ชุมชน

             ที่กล่าวข้างต้นเป็นความเห็นบางส่วนของบุคคลในพื้นที่จริง สนามรบจริงที่สะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงจากใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะสรุปโครงสร้างตามมาตรา 44 ของ คสช. มีคนพูดติดตลกว่า ครูมีผู้บังคับบัญชามากขึ้น โดยมีผู้บังคับบัญชา เรียงตามลำดับดังนี้ 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2.ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 3.เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4.ศึกษาธิการภาค 5. ผู้ว่าราชการจังหวัด 6.ศึกษาธิการจังหวัด 7.ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 8.นายอำเภอ 9. ศึกษาธิการอำเภอ 10.ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เป็นกรรมการ อกศจ.

             จากลำดับการบังคับบัญชาที่ยาวเหยียดของครู การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้จะตอบโจทย์ได้ไหมว่า ผลของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จะส่งผลต่อผู้เรียน ชุมชน ส่งผลต่อกลุ่ม Stake Holders (ผู้มีส่วนได้เสีย)หรือไม่ สามารถการันตีได้ไหมว่า ครูจะได้รับความเป็นธรรมมากกว่าอดีต ความก้าวหน้าของข้าราชการครูจะไม่ต่ำกว่าเดิม เป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบ ถึงแม้ว่าจะยาวนานแค่ไหน ครูทั้งประเทศจะรอคอย

             “แล้วจะให้คนที่เป็นครูเลือกเจ้านายคนไหนดี”


ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์