ไหนขอดูมือเด็กสายศิลป์หน่อย!! วันนี้พี่ๆ
AdmissionPremium จะมา
รีวิว คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีสาขาไหนน่าเรียนบ้าง คณะขวัญใจเด็กสายศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นสาขาจิตรกรรม, ทัศนศิลป์, ภาพพิมพ์ และคณะอื่นๆถึง 10 สาขาสุดฮอตว่าแต่ละสาขาจะน่าเรียนน่าสนใจแค่ไหน จะรีวิวแต่ละสาขาเรียนอย่างไร จบมาประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ? เด็กสายศิลป์บอกเลยว่าห้ามพลาด!! ปล.เด็กสายวิทย์หัวใจศิลป์ก็สอบได้นะ
สาขาการออกแบบสื่อสาร
หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อ สาขานิเทศศิลป์ จะได้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบเป็นหลักทั้ง ภาพนิ่ง โปสเตอร์ แม็กกาซีน แพทเทิร์น ไทโป ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว วีดีโอ หรือทั้ง Graphic Design กับ Motion Design แม้จะเป็นงานทำบนโปรมแกรมแต่แรกๆก็จะต้องเจอ Drawing รวมถึงเรียนเรื่ององค์ประกอบ
อาชีพสำหรับสาขาออกแบบสื่อสาร
- กราฟิกดีไซน์
- ผู้กำกับศิลป์
- นักออกแบบแอนิเมชั่น
- โมชั่นกราฟิก
- นักออกแบบภาพประกอบ
สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์
ใครที่ชอบงานออกแบบแนว 2D/3D บอกเลยไม่ผิดหวัง จะได้เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีที่ใช้ในการออกแบบ, ดิจิทัลเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบ ทั้งนี้จะต้องเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความต้องการของมนุษย์ ระเบียบวิธีวิจัยด้านการออกแบบและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ จากนั้นจะได้เลือกเรียนวิชาออกแบบที่ถนัด เช่น เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ยานยนตร์ เครื่องประดับ สิ่งทอ เป็นต้น
อาชีพสำหรับสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์
- นักออกแบบผลิตภัณฑ์
- นักวิจัยและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์
- นักพัฒนาผลิตภัณฑ์
- นักออกแบบบรรจุภัณฑ์
- นักออกแบบวัสดุ
สาขาการออกแบบแฟชั่น
ใครที่มีใจรักสายแฟชั่นอยากเป็นแฟชั่นนิสต้าตัวแม่สาขานี้ถือว่าตอบโจทย์มาก นอกจากวิชาศิลปะแล้วจะได้เรียนเกี่ยวกับสายแฟชั่นเชิงลึก เช่น การเขียนภาพประกอบแฟชั่น การออกแบบพื้นผิวของผ้า การออกแบบและการตัดเย็บ ควบคู่ไปกับการจัดการธุรกิจ การสร้างตราสินค้า แฟชั่นระบบอุตสาหกรรม การประสานงานและนำเสนอผลงานแฟชั่น
อาชีพสำหรับสาขาออกแบบแฟชั่น
- แฟชั่นดีไซเนอร์
- นักวาดภาพประกอบแฟชั่น
- นักออกแบบลายผ้า
- ศิลปินสร้างสรรค์งานผ้า
- สไตล์ลิสต์ *ส่วนใครอยากเป็นสไตล์ลิสต์ให้นักร้องเกาหลีก็ต้องเรียนภาษาเพิ่มนะจ้ะ
สาขาการแสดงและกำกับการแสดง
เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ฮอตฮิตตลอดกาลอีกหนึ่งสาขา เพราะเป็นสาขาที่ผลิตบุคลาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยเนื้อหาการเรียนจะเรียนตั้งแต่พื้นฐานการละคร, การแสดง, การร้อง ไปจนถึงเล่นละครกับหุ่น ซึ่งทุกคนจะได้ทำทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังจะได้รู้ว่าตัวเองเหมาะกับงานสายไหน ถือเป็นข้อดีของการเรียนเลยก็ว่าได้
อาชีพสำหรับสาขาการแสดงและกำกับการแสดง
- นักแสดง
- ผู้กำกับเวที, ผู้กำกับการแสดง
- นักเขียนบทละคร
- ผู้ฝึกสอนการแสดง
- พิธีกร
สาขาศิลปะเครื่องประดับ
ถือเป็นสาขาที่ดูหรูดูแพง เพราะแพงจริงๆกับสาขาศิลปะเครื่องประดับ ก็เรียนตามชื่อสาขาเลยคือออกแบบเครื่องประดับเป็นหลักนอกจากจะเน้นการออกแบบแล้วจะได้เรียน การเขียนแบบเครื่องประดับ, การตลาดและการจัดการธุรกิจเครื่องประดับและการนำเสนอผลงานเครื่องประดับ เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับในรูปแบบและเนื้อหาที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน
อาชีพสำหรับสาขาศิลปะเครื่องประดับ
- นักออกแบบเครื่องประดับ
- นักออกแบบโลหะภัณฑ์
- ผู้สอนและนักวิชาการด้านการออกแบบเครื่องประดับ
สาขาวิชาทัศนศิลป์
เป็นสาขาที่ได้ศึกษาในหลายๆแขนงไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์รวมถึงสื่อศิลปะหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ภาพถ่าย วิดีโอศิลป์ และคอมพิวเตอร์ศิลป์ และจะได้เรียนทฤษฏีทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปวิจารณ์ องค์ความรู้ทางภัณฑารักษ์ ประเด็นร่วมสมัยในงานศิลปะ การจัดการธุรกิจทางด้านศิลปะเน้นทั้งปฏิบัติและทฤษฎี
อาชีพสำหรับสาขาทัศนศิลป์
- ศิลปินและนักออกแบบ
- ครู/อาจารย์ผู้สอนศิลปะ
- นักวิชาการทางด้านศิลปะ
- นักวิจัยศิลปะ
- ผู้ประกอบการอิสระที่เกี่ยวเนื่องด้วยศิลปะ
สาขาวิชาจิตรกรรม
เรียนและศึกษาเกี่ยวกับงานด้านจิตรกรรม และด้านศิลปะ สามารถสร้างสรรค์ศิลปะได้อย่างมีอิสระ เป็นงานศิลปะที่เน้นด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบให้เกิดความงาม เช่น ภาพคนเหมือน, ภาพหุ่นนิ่ง, ภาพวิวทิวทัศน์, ภาพสัตว์ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ 2 มิติ ประเภทของงานจิตรกรรมก็มีด้วยกันหลายแขนงดังนี้ จิตรกรรมสีน้ำ, จิตรกรรมสีฝุ่น, จิตรกรรมหุ่นนิ่ง, จิตรกรรมภาพคน, จิตรกรรมฝาผนัง
อาชีพสำหรับสาขาจิตรกรรม
- ศิลปินจิตรกรรม
- ครู/อาจารย์สอนศิลปะ
- ฝ่ายศิลปกรรมในภาครัฐและเอกชน
- อาชีพอิสระในการผลิตงานจิตรกรรม
สาขาวิชาประติมากรรม
นอกจากความรู้และทักษะด้านงานศิลปะ สาขานี้น้องๆจะได้รังสรรค์ผลงานประติมากรรมของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย งานประติมากรรมจะเป็นงานศิลปะการสร้างรูปทรง 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นงานปั้น งานแกะสลัก การหล่อและการประกอบรูปร่าง ทั้งหมดนี้น้องๆจะได้ทำตลอดการศึกษา โดยจะรังสรรค์งานเหล่านี้จะต้องเข้าใจถึงการถ่ายทอดแนวคิด, การแฝงทัศนคติ, รวมถึงตัวตนของศิลปินในผลงานเป็นศิลปะร่วมสมัย ก็จะได้เรียนด้วยเช่นกัน
อาชีพสำหรับสาขาประติมากรรม
- ศิลปินอิสระ,นักจัดการศิลปะ
- นักวิชาการศิลปะ
- นักอนุรักษ์ประติมากรรมไทย
- พนักงานของรัฐทางด้านศิลปะ
- นักวิเคราะห์งานประติมากรรมไทย
- นักออกแบบงานประติมากรรมไทย
สาขาวิชาภาพพิมพ์
น้องๆจะได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะภาพพิมพ์จากระบวนการพิมพ์ เช่น กระบวนการพิมพ์จากส่วนนูน จากส่วนร่อง จากส่วนช่องฉลุและกระบวนการพิมพ์จากส่วนภาพ รวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมจากศาสตร์อื่นๆ และมีความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความรู้ทางด้านทัศนศิลป์ต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์งานด้านศิลปกรรม
อาชีพสำหรับสาขาภาพพิมพ์
- ศิลปินอิสระทางศิลปะภาพพิมพ์
- นักวิชาการทางศิลปะ
- พนักงานบริษัทฝ่ายศิลป์ โฆษณา ออกแบบฯ
- นักพัฒนาวิชาชีพทางศิลปะภาพพิมพ์ ศิลปกรรมประยุกต์
- นักสร้างสรรค์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีบูรณาการกับงานศิลปะภาพพิมพ์
สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
ก็ตามชื่อสาขาเลยจะเรียนเกี่ยวกับดนตรีเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 วิชาเอกหลักๆเลยคือ ดุริยางคศิลป์ไทย, ดุริยางคศิลป์ตะวันตก แม้เนื้อหาการเรียนจะแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็น การขับร้อง, การแสดง, การเรียบเรียงดนตรี แต่จะเพิ่มตรงใครที่เรียน ดุริยางคศิลป์ตะวันตก จะต้องเรียนด้านภาษาเพิ่มเติมด้วยนะ เพื่อที่จะเข้าใจในความหมายของบทเพลงตะวันตกมากขึ้น
อาชีพสำหรับสาขาดุริยางคศิลป์
- ศิลปินนักร้อง
- ครู/อาจารย์ด้านดนตรี
- โปรดิวเซอร์
- นักดนตรี
10 สาขาที่ได้พี่ๆ AdmissionPremium นำมารีวิวฝากให้น้องๆ ในบทความนี้ ถือเป็นสาขายอดฮิตที่หลายคนให้ความสนใจมากเพราะสามารถปรับตัวเข้ากับงานในยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืนและมีคุณภาพ โดยเฉพาะการต่อยอดสายอาชีพก็สามารถเติบโตได้ จึงไม่แปลกใจทำไม 10 สาขานี้ถึงได้รับความสนใจมากขึ้นในทุกๆปี ส่วนใครอยากให้รีวิวสาขาอะไรเพิ่มเติมส่งมาบอกพี่ๆ
ได้เลยนะคะ หวังว่าจะส่งเข้ามากันเยอะๆเลยน้า