ช่วงนี้เทรนด์การทำอาหารลงสื่อออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างมากในทุกกลุ่มช่วงอายุ รวมถึงรายการแข่งขันทำอาหารที่สุดแสนจะเข้มข้นที่กำลังเป็นกระแส ทางเพจ
Admission Premium เองก็มีน้องๆหลายคนให้ความสนใจในสายอาชีพนี้เยอะมากๆ อยากได้คำแนะนำและรายละเอียดต่างๆของคณะ/สาขาที่เกี่ยวกับอาหาร และบทความนี้จะมารีวิวสาขาที่เรียนด้านอาหารจะมีสาขาไหน ? และเรียนอะไรบ้าง บอกเลยว่างานสายอาหารไม่ได้มีดีแค่อาชีพเชฟ
คหกรรมศาสตร์
เป็นอีกหนึ่งคณะที่ขึ้นชื่อสายอาหารโภชนาการ แต่ไม่ได้เรียนทำอาหารอย่างเดียวจะได้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ แฟชั่น งานฝีมือต่างๆ ส่วนในด้านของอาหารจะได้เรียนการประกอบอาหาร ศิลปะอาหารและการบริการ โภชนาการและการกำหนดอาหาร และการแปรรูปอาหารเป็นหลัก
ตัวอย่างอาชีพ : นักโภชนาการ นักกำหนดอาหารในโรงพยาบาล
ผู้ตรวจสอบทดสอบคุณภาพอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร นักพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ผู้สอนด้านอาหารและโภชนาการ
การประกอบอาหาร
สำหรับสาขาการประกอบอาหารจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ประกอบอาหาร ได้เรียนการปรุงอาหารหลากหลายสัญชาติ รวมทั้งการทำขนมหวานทั้งไทยและเทศ การใช้อุปกรณ์เครื่องครัว เรียนรู้ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการอาหาร หลักสุขาภิบาลและความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อพัฒนาอาหารและขนมให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ
ตัวอย่างอาชีพ : อาจารย์สอนด้านวิชาการด้านอาหารระดับปวช. ปวส. ผู้จัดการแผนกอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท นักออกแบบอาหาร ถ่ายภาพหนังสือนิตยสารเกี่ยวกับอาหาร ที่ปรึกษาธุรกิจร้านอาหารภัตตาคารและครัว นักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลต่างๆ พนักงานแผนกจัดเลี้ยง เจ้าของธุรกิจด้านร้านอาหารหรือ ภัตตาคารสมัยใหม่
การจัดการธุรกิจอาหาร
นอกจากต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารแล้วจะได้มองในมุมของการบริหารและวิทยาศาสตร์ที่เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจอาหาร ทั้งในผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม และผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและอาหารให้สามารถแข่งขันและเติบโตทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติได้ เหมาะกับผู้ที่สนใจทางด้านธุรกิจอาหาร หรือ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจอาหาร เรียนผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีอาหารและการบริหารจัดการในธุรกิจอาหาร
ตัวอย่างอาชีพ : ประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นักวิจัยหรือนักโภชนาการ
วิศวกรรมอาหาร
จะเน้นไปที่เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต/แปรรูปอาหาร หรือที่เรียกว่า FOOD ENGINEERING เรียนตั้งแต่พื้นฐานทางวิศวกรรม วิทยาศาสตร์อาหาร ทั้งการคำนวณ กฎฟิสิกส์ ส่วนการทำงานส่วนใหญ่จะอยู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การออกแบบเครื่องจักแปรรูปอาหาร ระบบผลิตกำลังในอุตสาหกรมอาหาร การควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร
ตัวอย่างอาชีพ : วิศวกรอาหาร นักวิเคราห์โครงการผลิตอาหาร นักวิจัยด้านอุปกรณ์และกระบวนการผลิตอาหาร นักออกแบบหรือนักพัฒนาเครื่องจักร/อุปกรณ์/กระบวนการผลิตอาหาร ผู้ตรวจสอบระบบการผลิตอาหาร
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
โดยพื้นฐานจะต้องศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมอาหาร และองค์ประกอบปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของอาหาร รวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องจักรให้เหมาะสมกับการแปรรูปอาหารในภาคอุตสาหกรรม เนื้อหาเชิงลึกจะได้เรียนเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมอาหารเบื้องต้น เคมีอาหาร การวิเคราะห์อาหาร กฎหมายและมาตรฐานอาหาร การประกันคุณภาพอาหาร ฯลฯ
ตัวอย่างอาชีพ : พนักงานควบคุมคุณภาพ ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นักวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร นักโภชนาการหรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้ควบคุมด้านการผลิต
ทีนี้น้องๆ ร฿้แล้วใช่มั้ยล่ะว่าสายการเรียนทางด้านอาหารไม่ได้มีแค่อาชีพ เชฟ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอาชีพอื่นที่ใกล้เคียงอีกมากมายที่ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในครัวแต่ก็เป็นส่วนนึงในกระบวนการทำอาหารขึ้นมา ทั้งนี้ก่อนจะเลือกศึกษาน้องๆ ควรตัดสินใจให้ดีแม้จะเรียนสายอาหารเหมือนกันแต่ปลายทางในการประกอบอาชีพต่างกันมากอยู่นะ