สอบเข้ามหาวิทยาลัย

คนไทยเขียน-อ่านน้อย สศร.หนุนเขียนเรื่องประทับใจลงสมุดบันทึก

UploadImage

        สศร. เผย คนไทยเขียน - อ่านหนังสือน้อย ให้ความสนใจข้อความผ่านมือถือ ส่งผลกระทบต่อระบบการคิด เร่งรณรงค์ให้คนไทยเขียน บันทึกเรื่องราวความประทับใจลง “สมุดบันทึก” กระตุ้นทักษะการเขียน 
       
       นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ปี 2552 - 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่าน และกำหนดให้การส่งเสริมอ่านเป็นวาระแห่งชาตินั้น ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมสำรวจการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปรากฏว่า เด็ก เยาวชนสนใจหาความรู้จากการอ่านหนังสือน้อยมาก ส่วนมากสนใจกับการค้นหาข้อมูลผ่านระบบค้นหาทางอินเทอร์เน็ต และในแต่ละวันจะอ่านข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือแบบผ่าน ๆ ส่งผลให้ระบบการคิด การเข้าใจในการหาความรู้ในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถเรียนรู้ข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้เด็กไทยขาดสมาธิ ขาดการจดจำ และขาดการไตร่ตรองแหล่งที่มาขององค์ความรู้
       
       ดังนั้น สศร. ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ สานต่อโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ เป็นปีที่ 2 ถือเป็นนโยบายส่งเสริมการอ่านด้วยการเขียนบันทึก หลังจากประสบความสำเร็จทำให้เด็ก เยาวชน และโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ หันมาสนใจให้เด็ก ๆ หัดเขียนบันทึก พร้อมทั้งจุดประกายสร้างนักเขียนรุ่นเยาว์อายุน้อยที่สุดในวัย 7 ปี สำหรับปีนี้ ยังมีแนวคิดสร้างโครงการ สมุดบันทึกคนไทย ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการอ่านด้วยการเขียนบันทึกเรื่องราวความประทับใจของคนไทยในแง่มุมต่าง ๆ ที่ได้พบเจอในแต่ละวันลงในสมุด อย่างไรก็ตาม การเขียนบันทึกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคน ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่มีถูกผิด แต่วิธีการจดบันทึกนี้ส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาทักษะการเขียนให้ดีขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้สร้างมุมมองความคิดของตัวเอง นำไปสู่การส่งเสริมให้ มีพัฒนาการด้านการอ่านทบทวนความจำได้ดีขึ้นด้วย
       
       “โครงการสมุดบันทึกคนไทย ขยายให้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ และอยากเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศและผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร่วมบันทึกความรู้ โดยการเล่า เขียนประสบการณ์ ความรู้ ภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ หรือเป็นหลักคิด และนำไปสานต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้ ซึ่ง สศร. จะรวบรวม คัดเลือกสมุดบันทึกที่โดดเด่นไปจัดแสดง ยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่สนใจจะบันทึก ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ชีวิตไว้แก่คนรุ่นหลัง” ผอ.สศร. กล่าว

ที่มา : 
MGR Online