คณะอุตสาหกรรมเกษตรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยมีวิสัยทัศน์หลักมุ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมด้านอาหารแห่งอาเซียน รวบรวมองค์ความรู้ด้านอาหารในทุกมิติ เป็นศูนย์รวมข้อมูลการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหาร ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจอาหารในระดับสากล และมุ่งเป็นองค์กรด้านอารหารในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ ในปัจจุบันคณะอุตสาหกรรมเกษตร เปิดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านอาหารในทุกมิติทั้งหมด 7 หลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง 2559) ที่เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ได้แก่
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการหมักในอุตสาหกรรมอาหาร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมแปรรูปอาหาร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดและบริการอาหาร
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร
ซึ่งในปีนี้ คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้เปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร (Culinary Science and Foodservice Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และศิลปะของการปรุงอาหารหลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Business and Hotel Management School – BHMS)
หลักสูตร วิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)
รายละเอียดหลักสูตร
หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร หรือเชฟนักวิทยาศาสตร์ (Scientific Chef) เป็นหลักสูตรที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และศิลปะของการปรุงอาหาร หลักสูตรแรกในประเทศไทย เน้นผู้เรียนให้มีการ บูรณาการความรู้และทักษะหลากหลายด้าน คือ
1. ทักษะการประกอบอาหารไทยและอาหารนานาชาติ ในห้องครัวระดับมาตรฐานสากล
2. ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
3. ความรู้และทักษะการบริหารจัดการในธุรกิจการบริการอาหาร
การเรียนการสอนของหลักสูตรเชฟนักวิทยาศาสตร์ เน้นทางด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการอาหาร การทดลองทางด้านวิทยาศาตร์อาหาร ร่วมกับศิลปะการประกอบอาหารและการบริการด้านอาหาร เน้นการเรียนรู้และการทักษะปฏิบัติจริง (Problem-Based Learning) สู่การเป็นเชฟรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค รู้เทคนิคในการบริการทางอาหารที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารมืออาชีพ เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจด้านอาหารได้ โดยนักศึกษาจะได้เรียนกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์การอาหารและเทคโนโลยีอาหาร และเชฟที่มีความชำนาญในศิลปะการประกอบอาหาร ในห้องครัวมาตรฐานสากลและห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อาหารที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด
ระบบการเรียนการสอน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร ทำการเรียนการสอนที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ทั้งหมด 3 ปี ศึกษาต่อที่สถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม (Business and Hotel Management School – BHMS) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 1 ปี โดยนักศึกษาจะได้ฝึกงานทั้งสิ้น 1,000 ชั่วโมง ตลอดหลักสูตร และได้ฝึกปฏิบัติการครัวแบบมีค่าตอบแทนเป็นเวลา 6 เดือน ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยนักศึกษาจะได้รับปริญญาตรี 3 สถาบัน คือ วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศิลปะการปรุงอาหาร) จากสถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Business and Hotel Management School – BHMS) และศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศิลปะการปรุงอาหาร) จากมหาวิทยาลัยโรเบิร์ต กอร์ดอน ประเทศอังกฤษ
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาตามประกาศสถาบัน รายละเอียดดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ชำระครั้งเดียวเมื่อแรกเข้าศึกษา
2. ค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคการศึกษาละ 180,000 บาท (หนี่งแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)
3. ค่าธรรมเนียมสำหรับการศึกษาที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 3 และภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 4 16,000 CHF (หนึ่งหมื่นหกพันฟรังก์สวิสถ้วน)
โดยผู้สมัครสามารถดูรายละเอียดการจัดการศึกษาของหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ www.reg.kmitl.ac.th และสถาบันจะไม่คืนเงินให้ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น