| ทปอ. ห่วงการจัดตั้งกระทรวงใหม่ล่าช้า เตรียมเสนอ ศธ.นำร่าง พรบ. 2 ฉบับเข้า ครม. พิจารณา ก่อนในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมแนะปัดฝุ่น เคาะโครงสร้างใหม่ให้ชัดเจน ก่อนการควบรวมจะเกิดขึ้น |
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ณ วันที่14 สิงหาคม 2561 ห่วงการจัดตั้งกระทรวงใหม่ล่าช้า แม้ ครม.จะมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.การอุดมศึกษาแล้วก็ตาม พร้อมเสนอทางออกให้กระทรวงศึกษาธิการ นำร่าง พรบ.ที่เกี่ยวของอีก 2 ฉบับ เสนอเข้า ครม. ภายในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้การจัดตั้งกระทรวงใหม่เป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด พร้อมเสนอให้เร่งสรุปโครงสร้างภายในกระทรวงใหม่ให้ชัดเจน ก่อนการควบรวมจะเกิดขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาภารกิจซ้ำซ้อนอีก
(ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ขณะนี้การจัดตั้งกระทรวงใหม่ “กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม” มีความคืบหน้าไปมาก ภายหลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำร่าง พรบ.การอุดมศึกษา ที่จัดทำเสร็จตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผลการประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวแล้ว ถือเป็นความคืบหน้าในการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่ง ทปอ. ยังคงยืนยันในหลักการที่ปรากฏในร่าง พรบ.การอุดมศึกษา เพื่อประกอบการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งกระทรวงใหม่
อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดตั้งกระทรวงใหม่ จะต้องประกอบด้วยร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พรบ.วิจัยและนวัตกรรม และร่าง พรบ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และยังมีความเห็นต่างกันอยู่ จึงมีความเป็นห่วงว่าการจัดตั้งกระทรวงใหม่จะล่าช้าไปจากกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด คือในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดตั้งกระทรวงใหม่ไม่ล่าช้าและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทปอ. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้นำร่าง พรบ.ที่เหลืออีก 2 ฉบับ นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ก่อน แล้วค่อยนำมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นที่ยังเห็นต่างกันอยู่ในภายหลัง
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการจัดทำร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องให้ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนด ยังมีสิ่งที่สำคัญมากในขณะนี้ คือประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างและกลยุทธ์ของกระทรวงใหม่ ซึ่ง ทปอ. มองว่าควรให้ความสำคัญกับการวางบทบาท ภาระหน้าที่ ตามโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ได้ทันที หลังการควบรวมเกิดขึ้นแล้ว โดยต้องเชื่อมโยงกัน ไม่ซํ้าซ้อน และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อการพัฒนากำลังคน สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปสู่การใช้งานจริง ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับภาพรวมโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ในมุมมองของ ทปอ. มีความเห็นว่าควรจัดแบ่งโครงสร้างกระทรวงเป็น 3 กลุ่มงาน ดังนี้
กลุ่มงานที่ 1 กลุ่มงานสำนักงานปลัดกระทรวงและหน่วยงานให้ทุนวิจัย กำกับดูแลนโยบาย สนับสนุนการทำงาน และการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย กำหนดนโยบายวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต (Foundation of The Future)
กลุ่มงานที่ 2 กลุ่มงานด้านการอุดมศึกษา ทำหน้าที่พัฒนากำลังคน สร้างงานวิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่กำหนดไว้ใน ร่าง พรบ. การอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการอุดมศึกษา มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทหน้าที่ในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทั้งในวัยเรียนและวัยทำงาน ปรับกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง โดยทำงานแบบหุ้นส่วนกับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยสามารถทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ด้านงานวิจัยและพัฒนา ยกระดับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัยให้สามารถใช้ศักยภาพและสมรรถนะทำให้เกิดงานวิจัยที่มีผลกระทบและมีคุณค่าต่อประเทศสูงสุด สร้างระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยโดยการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วม และสามารถตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัยได้
กลุ่มงานที่ 3 กลุ่มงานด้านวิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทในการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม ซึ่งต้องบูรณาการตามกรอบที่กำหนดไว้ใน ร่าง พรบ.การวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นปฏิรูประบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ และระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาของประเทศ
“การดำเนินการของทั้ง 3 กลุ่มงาน นอกจากสำนักงานปลัดกระทรวงแล้ว ทปอ.มองว่า หน่วยงานส่วนอื่นภายใต้โครงสร้างกระทรวงจะเป็นหน่วยงานในกำกับที่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานของตนเอง สอดคล้องกับนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (ซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา) และสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) เน้นหลักสนับสนุนและส่งเสริมให้การทำงานมีความคล่องตัว ใช้ความสามารถของหน่วยงานตนเองพัฒนาศักยภาพการทำงานได้สูงสุด ตามบริบทของหน่วยงานอย่างมีความรับผิดชอบ เว้นแต่กรณีที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลอย่างรุนแรงเกิดขึ้น กระทรวงอาจใช้หลักการกำกับและควบคุมได้ และที่สำคัญกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม จะต้องเป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาทั้ง เทคโนโลยี นวัตกรรม สังคม และคนไทยไปพร้อมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจสังคมฐานนวัตกรรม และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21”
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวในตอนท้าย