นักเรียนไทยคว้า 1 เหรียญเงิน 3 ทองแดง ให้ประเทศไทยจากการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกที่เมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
หนึ่งในโครงการที่จะมีในระบบ TCAS ระบบรับเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาระบบใหม่ที่จะเริ่มใช้กับ #dek61 คงหนีไม่พ้นโครงการโอลิมปิกวิชาการ โครงการที่มีมาตลอดทุกปี และเราก็เชื่อว่าจะยังมีต่อไป ด้วยเป็นโครงการที่สามารถคัดเอานักเรียนที่มีความสามารถทางวิชาการระดับหนึ่งมาเรียนกับคณะได้ แต่น้องๆ ที่กำลังสนใจโครงการนี้รู้หรือไม่ว่าการเดินบนเส้นทางสายโอลิมปิกวิชาการต้องเจอกับอะไรบ้าง
เราจึงขอหยิบยกบทความ และเรื่องราวของคนที่เคยเดินบนเส้นทางนี้มานำเสนอกัน เป็นเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนกระทั่งหลังจากการเฉลิมฉลองสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ พวกเขามีการตัดสินใจครั้งสำคัญรอพวกเขาอยู่ ไม่เร็วก็ช้า พวกเขาจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้เวลาอีก 10 กว่าปีข้างหน้าของพวกเขาอย่างไร
บรรยากาศการเตรียมตัวในค่ายสสวท. ปี 2017
ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศนั้น นักเรียนส่วนมากจะต้องเริ่มจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้าค่ายของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (สอวน.) ตามภูมิภาคต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงจะสอบคัดตัวเข้าสู่ค่ายที่ 2 ของสอวน. เพื่อที่จะได้สิทธิ์ไปสอบแข่งขันในระดับประเทศ
"เวลาที่เราเพิ่งทำอะไรซักอย่าง ณ ตอนนั้น มันก็จะมีความรู้สึกที่เข้มข้นมาก ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจมาก แล้วก็รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในเรื่อง ๆ หนึ่งในชีวิต แต่ว่าพอจบกลับมา ในชีวิตเรามันก็มีเรื่องมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้น ตรงนั้นมันก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่ความสำเร็จอย่างเดียวที่เกิดขึ้น" อำนวย พลสุขเจริญ พูดถึงความรู้สึกเมื่อ 11 ปีก่อน ตอนที่เขาเพิ่งชนะเหรียญเงินโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ที่ประเทศสิงคโปร์
จากนั้นผู้ผ่านเข้ารอบจากการแข่งขั้นนี้จึงจะได้เดินเข้าสู่ค่ายของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) ซึ่งจะมีการอบรมอีกหลายสัปดาห์ก่อนจะทำการสอบวัดผลอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ตัวแทนประเทศไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งการแข่งขันและเข้าค่ายทั้งหมดนับเป็นช่วงเวลากว่า 2 ปี
รณชัย เจริญศรี หนึ่งในนักเรียนไม่กี่คนที่มีได้รับเหรียญถึง 2 ปีติดต่อกันในสาขาฟิสิกส์ คือเหรียญเงินปี 2005 และเหรียญทองในปี 2006 อาจจะเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์นี้มามากที่สุดคนหนึ่ง
"ผมจำได้ว่าเป็นช่วงที่สนุกมากที่สุดช่วงหนึ่งเลย เรียนฟิสิกส์ก็สนุกดี คิดอะไรออกมันก็สนุกดี เด็กผู้ชายเยอะในค่ายฟิสิกส์ก็เตะบอลเล่นบาสกัน พอกลับมาเข้าเรียนอาจารย์ก็จะบ่นว่าเหม็นเหงื่อ" รณชัยพูดถึงประสบการณ์ในค่ายสอวน.
หนึ่งในนักเรียนในค่ายของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โอลิมปิกวิชาการไม่ได้จบลงที่เหรียญ
โอลิมปิกวิชาการเป็นทั้งปลายทางและจุดเริ่มต้นสำหรับทั้งอำนวยและรณชัย เช่นเดียวกับตัวแทนประเทศอีกหลายคน ซึ่งได้ตัดสินใจรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนต่อถึงปริญญาเอก
การรับทุนนั้นหมายถึงการตกลงที่จะศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนจะกลับมาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐในจำนวนปีเท่ากัน ซึ่งงานส่วนมากคือสอนหนังสือหรือทำวิจัย และแทบจะหมายถึงการบอกลาอาชีพในฝันของเด็กสายวิทย์หลายคนอย่างหมอหรือวิศวกร
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันอำนวยทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้บริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Robinhood ซึ่งผลิตแอปพลิเคชันสำหรับซื้อขายหุ้น เขาวางแผนจะกลับมาสอนในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทยตามข้อผูกพันทุนโอลิมปิกภายในสองปีข้างหน้า
อำนวย พลสุขเจริญ ที่บริษัท Robinhood
ส่วนรณชัย ซึ่งกำลังทำงานวิจัยในระดับปริญญาเอกและฝึกงานในทีม Google Brain ซึ่งใช้การเรียนรู้ของเครื่องมาพัฒนาเทคโนโลยเกี่ยวกับสุขภาพ ก็มองว่าทุนโอลิมปิกนับเป็นประสบการณ์ที่มีผลต่อชีวิตนักเรียนทุนอย่างมาก
"ถ้ามองแบบ objectively มันก็เปลี่ยนชีวิต ทำให้ได้มีโอกาสเรียนมหาลัยระดับโลก เป็นอะไรที่เปลี่ยนชีวิตมาก
ถ้าผมไม่ถูกจำกัดด้วยการต้องใช้ทุน มันมีโอกาสอีกมากมายเลยที่เราจะทำได้ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าการใช้ทุนเป็นเรื่องแย่ เพราะผมก็อยากกลับไทยและทำอะไรให้ประเทศเหมือนกัน ได้เห็นอะไรที่นี่มานานก็อยากจะเอาอะไรดี ๆ กลับไปบ้าง"
เมื่อถึงเวลาที่เขาเดินทางกลับไทย รณชัยคิดว่าอยากจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรซักอย่างที่จะช่วยพัฒนาชีวิตคน แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
"เท่าที่ผมได้ยินมาเขามักจะให้เราไปทำวิจัยมากกว่า [ตัวเลือก]ที่ชัดเจนที่สุดของผมก็คือเป็นอาจารย์ แต่ถ้าถามผมว่าอยากเป็นอาจารย์มหาลัยรึเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน" รณชัยกล่าว
สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ BBC ไทย
ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก : BBC ไทย