สอบเข้ามหาวิทยาลัย

หยุดทำงานทุกอย่าง! มาดู 10 เรื่องน่ารู้ “ประเพณีวันว่าง” สงกรานต์ของภาคใต้


แม้เราจะรู้จักและคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยอย่าง “เทศกาลสงกรานต์” กันมาตั้งแต่เด็ก แต่คุณรู้รึเปล่าว่า เพื่อนๆ ในแต่ละภาคของประเทศไทยเรานั้น เค้ามีกิจกรรม ความเชื่อ หรือพิธีอะไรให้ทำกันในวันสงกรานต์บ้าง

เอาล่ะเพื่อเป็นการเสริมความรู้ให้คุณได้รู้จักเทศกาลสงกรานต์ของทุกภาคอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็ถึงคิวที่เราจะมารู้จักประเพณีของพี่น้องชาวใต้กันบ้าง กับ 10 เรื่องน่ารู้ “ประเพณีวันว่าง” สงกรานต์ของภาคใต้ ขอบอกเลยว่าเรื่องราวและกิจกรรมของชาวปักษ์ใต้นั้นน่าสนใจไม่แพ้ภาคไหนเลยจริงๆ พร้อมแล้วก็ตามมาแล!! 
 

UploadImage

1. ชาวใต้เรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า “ประเพณีวันว่าง” เพราะตลอดเวลา 3 วัน ของเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-15 เม.ย. ทุกคนต้องทำตัวให้ว่าง จะต้อง ละ วาง ทั้งกายและใจ จากภารกิจต่างๆ ที่ต้องทำเป็นประจำให้หมดทุกอย่าง และห้ามลงโทษเฆี่ยนตีคนหรือสัตว์ ไม่กล่าวคำเท็จคำหยาบคาย และต้องทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสตลอดทั้ง 3 วัน

2. ก่อนถึงกำหนด "วันว่าง" ชาวปักษ์ใต้ต้องรีบเร่งทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย และทุกบ้านเรือนต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้ให้พร้อม และพอใช้สำหรับ 3 วัน

3. วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” วันนี้ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงมีพิธีสะเดาะเคราะห์ที่เรียกว่า “ลอยเคราะห์” หรือ “ลอยแพ” ลงในแม่น้ำ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยไปกับเจ้าเมืองเก่า และจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองในวันนี้ มีความหมายถึงการล้างมลทิน หรือล้างสิ่งไม่เป็นมงคลให้หมดไป เพื่อสิ่งเป็นมงคลจะได้เกิดขึ้นในวันปีใหม่

4. วันที่ 14 เมษายน คือ “วันว่าง” ด้วยความเชื่อว่าวันนี้ยังไม่มีเทวดามารักษาเมือง (เนื่องจากเจ้าเมืองเก่าขึ้นสวรรค์ไปในวันก่อน) เพื่อป้องกันปัญหาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ชาวบ้านจึงให้หยุดการทำงานทุกอย่าง แล้วหันไปทำบุญตักบาตรที่วัด รวมถึงทำบุญอัฐิเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่

5. สมัยโบราณ ก่อนถึงวันว่าง จะมี คณะเพลงบอก หรือ คณะนักขับร้องทำนองกลอนสด ออกตระเวนไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขับร้องบทกลอนแจ้งกำหนดวันว่างของปีนั้นๆ รวมถึงบอกรายละเอียดวันดีวันเสีย คำทำนายสำหรับปีใหม่ และตำนานวันสงกรานต์ โดยลงท้ายอาจมีการสรรเสริญให้พรเจ้าของบ้านด้วย

6. วันที่ 15 เมษายน หรือ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า “วันเบญจา” หรือ "บิญจา" เป็นวันรับเทวดาองค์ใหม่มาดูแลรักษาบ้านเมือง ชาวบ้านจะต้องต้อนรับด้วยการแต่งตัวสวยงามด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับใหม่ๆ และมีการนำอาหารไปถวายที่วัด


UploadImage

7. พิธีรดน้ำขอพรวันที่ 15 เรียกว่า สระหัววันว่าง โดยลูกหลานจะจัดเตรียมผ้าใหม่มากราบไหว้ขอขมาและขอพร จากนั้นจะร่วมกันอาบน้ำสระผมให้บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ แล้วให้ท่านนุ่งห่มผ้าใหม่ที่จัดเตรียมให้

8. สำหรับบางตระกูลที่มีญาติมากมาย ก็จะจัด “พิธีเบญจา” ในวันนี้ด้วย "พิธีเบญจา" หรือ "พิธีบิญจา" เป็นประเพณีรดน้ำผู้อาวุโส โดยจัดรวมในโรงพิธีแบบจตุรมุข

9. มีการจัดงานสงกรานต์ตอนกลางคืนที่มีชื่อเสียงที่สุดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ คือ งานหาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ ที่ถนนเสน่หานุสรณ์และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ช่วงเย็นถึงกลางคืน โดยเทศกาลนี้ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

10. มีกิจกรรมงานสงกรานต์ที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง คือ สงกรานต์แห่นางดาน หรือ เทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้นที่ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และหอพระอิศวร จังหวัดนครศรีธรรมราช 


UploadImage

บทความก่อนหน้า 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์ภาคเหนือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง”


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ :
http://kanchanapisek.or.th
www.trueplookpanya.com
www.manager.co.th
www.thaifest.org
http://i-san.tourismthailand.org
http://oknation.nationtv.tv
http://library.cmu.ac.th
www.thaifest.org
www.tiewpakklang.com