เมื่อนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Laurent Schwartz เรียนอยู่ชั้น ม. ปลาย เขาเริ่มกังวลว่าเขาไม่ฉลาดพอที่จะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ บางทีน้องๆ อาจมีความรู้สึกคล้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้น เวลาต้องทำข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ น้องๆ จะรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้น มีเหงื่อออกบริเวณฝ่ามือ เหมือนมีผีเสื้อบินอยู่ในกระเพาะ และไม่มีสมาธิทำข้อสอบ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า Math Anxiety (ความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์)
"การมีอาการ Math Anxiety ไม่ได้หมายความว่าน้องๆ
จะเอาดีด้านคณิตศาสตร์ไม่ได้"
ถ้ามันเกิดขึ้นกับน้อง สบายใจได้เลย มันไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณเพียงคนเดียว นักวิจัยคาดว่ามีประชากรถึง 20% ที่มีความทุกจากความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ แต่การมีอาการ Math Anxiety ไม่ได้หมายความว่าน้องๆ จะเอาดีด้านคณิตศาสตร์ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วมีนักคณิตศาสตร์หลายคนที่เคยมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น ตัว Laurent Schwartz เองก็มีอาการนี้เกิดขึ้นกับเขาในอดีต จนต่อมาเขาได้รับ “เหรียญฟิลด์ส” (Fields Medal) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักคณิตศาสตร์
เราอาจคิดว่าคนที่มีความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ ไม่เก่งเลข ที่จริงแล้วมันมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลนี้ นักวิจัยบางคนคิดว่าเป็นเพราะ ความสามารถด้านการจัดระเบียบฐานข้อมูล และความจำระยะสั้นของแต่ละคน หรือแม้แต่สาเหตุที่เด็กๆ อาจได้รับอิทธิพลมาจากพ่อแม่ที่ทำให้คณิตศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก หรือตัวครูเองที่ไม่มีความมั่นใจในเรื่องคณิตศาสตร์ ทำให้ความไม่มั่นใจนั้นส่งผลถึงนักเรียนด้วย ที่สำคัญคือความกดดันของสังคมที่ให้ค่ากับคนที่เก่งคณิตศาสตร์มากๆ เองก็ส่งผลต่อเรื่องนี้เช่นกัน
จะทำอะไรได้บ้างเมื่อมีความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์?

ฝึกควบคุมลมหายใจ

เขียนระบายความกังวล

หากมีโอกาสการออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว ก็สามารถช่วยได้

เปลี่ยนแนวคิดของคุณที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์

หากคุณเป็นพ่อแม่ หรือคุณครู ให้ลองทำให้คณิตศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุก มุ่งเน้นไปที่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างทักษะเชิงตัวเลข ก็สามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นในภายหลังได้

ที่สำคัญต้องให้พื้นที่ และเวลากับเด็กๆ ในการหาคำตอบด้วย

ผู้ดูแลหลักสูตรต้องมั่นใจว่าครูของคุณมีทัศนคติที่ดี และมีความเชื่อมั่นทางคณิตศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความมั่นใจให้นักเรียนทุกคนได้

ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีใครมาแพร่ชุดความเชื่อผิดๆ ว่าผู้ชายเก่งคณิตศาสตร์มากกว่าผู้หญิง
สุดท้ายอยากให้น้องๆ จำไว้อย่างหนึ่งว่า “ความวิตกกังวล” ไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของความสามารถทั้งหมดของน้องๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เราสามารถพิชิตมันได้ด้วยเวลา และความตระหนัก ว่าเราสามารถเรียนรู้ได้เสมอ
ข้อมูลจาก
TED Ed Lessons Worth Sharing
วิชาการ.คอม