สอบเข้ามหาวิทยาลัย

“มนุษย์ทองคำ” วิกฤตนักบินขาดแคลน อุตสาหกรรมการบินไทย

อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ละวันมีเที่ยวบินสัญจรไปมากว่า 100,000 ลำ ข้อมูลจาก Airbus และ Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ยืนยันตรงกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30,000 ลำ ในจำนวนนี้จะกระจุกตัวอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียกว่า 30% อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินดังกล่าวส่งผลให้การจราจรทางอากาศที่เกิดจากการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger – Kilometer: RPK) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น การเติบโตดังกล่าวทำให้อาชีพนักบินเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก 


สถิติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินทั้งหมด 6,072 คน แบ่งเป็นกัปตัน 2,376 คน ส่วนนักบินผู้ช่วยมี 3,600 คน แต่จำนวนเครื่องบินมีทั้งหมด 625 ลำ ขณะที่การผลิตบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือน ปัจจุบันผลิตนักบินได้ประมาณ 100 คนต่อปี หรือรุ่นละ 20 คน เนื่องจากนักบินเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกอบรม เรียนรู้เครื่องบินที่ต้องฝึกบิน และต้องมีใบอนุญาต ซึ่งกว่าจะเป็นกัปตันอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคม โดยสถาบันการบินพลเรือน ได้ขยายจำนวนสิทธิ์การบิน เพิ่มอัตราการผลิตนักบินโดยจะผลิตเพิ่มได้อีกปีละ 20 คน


UploadImage
ข้อมูลจากการสำรวจประจำปี 2559 

 
เมื่อนักบินขาดแคลนส่งผลให้แต่ละสายการบินเสนอผลตอบแทนให้นักบินเพิ่มขึ้น เฉพาะรายได้ของนักบินพาณิชย์เอกหรือกัปตัน ของไทยจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นประมาณ 380,000 บาทต่อเดือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักบิน
 

UploadImage
ข้อมูลจากการสำรวจประจำปี 2559 
 
จากการให้สัมภาษณ์ของ กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า "ตอนนี้ถือว่านักบินอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งปัจจัยมาจากสายการบินที่มีเพิ่มปริมาณมากขึ้น และคนที่จะขึ้นมาเป็นกัปตันได้นั้นต้องใช้นาน แต่ปริมาณสายการบิน เส้นทางบินมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักบินมีไม่พอกับความต้องการของธุรกิจการบิน จึงทำให้เกิดปัญหาคนขาดตามมา โดยธุรกิจสายการบินในปัจจุบันเลือกใช้การดึงคน หรือรับสมัครนักบิน จากสายการบินที่มีนักบินเยอะแทน ที่ง่ายกว่านั้น คือไปรับสมัครมาจากสายการบินอื่นๆ เรียกว่า ดึงกันไปดึงกันมา ก็เลยทำให้นักบินขาด และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งตอนนี้นักบินพาณิชย์ที่มีชั่วโมงบินขาดแคลน จากที่จะสร้างเพิ่มหรือพัฒนาคนให้เพียงพอต่อความต้องการ"

และตามกฎการบิน ภายใน 1 ปี  นักบิน 1 คน จะห้ามบินเกิน 1,000 ชั่วโมง ซึ่งเฉลี่ยจะบินได้คนละ 83 ชั่วโมงต่อเดือน และห้ามบินติดต่อกัน 35 ชั่วโมงภายใน 7 วัน  แต่ธุรกิจสายการบินจะขึ้นอยู่กับช่วงท่องเที่ยวในแต่ละช่วง ถ้ามีช่วงท่องเที่ยวก็มีการเพิ่มจำนวนของผู้โดยสารก็จะมาก ก็จะมีการทำการบินมากหน่อย แต่ถ้าเป็นช่วง Low Season ก็มีชั่วโมงบินน้อยลง แต่สุดท้ายรวมกันไม่เกิน 1 ปี ก็จะบินรวมกันไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง ยิ่งทำให้นักบินที่มีอยู่น้อยกลับขาดแคลนขึ้นไปอีก

 
UploadImage
 
 
กัปตันสนอง กล่าวต่อว่า “อาชีพนักบินใครก็อยากเป็น แต่ว่าต้องใช้เงินทุนในการเรียนเยอะ ถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่องนี้ ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้าจะให้ไปเรียนบินเองมันก็ยากเหมือนกัน การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น คนเป็นนักบิน มีค่าสนับสนุนค่าน้ำมัน นักบินก็บินได้ จบมาก็เป็นนักบิน ถ้าใครหมดภารกิจด้านการบินในกองทัพก็ลาออกมาเป็นนักบินพาณิชย์ ตอนนี้บุคคลเหล่านั้นเรียกว่าเหลือน้อยเต็มที จึงอยากให้มีการสนับสนุนเยาวชนที่มีความพร้อม หรือส่งทุนให้นักบิน น่าจะเป็นวิธีแก้ไขระยะยาวมากกว่า”

ก่อนหน้านี้มีการประเมินความต้องการของบริษัทผลิตเครื่องบินทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง ที่ได้ระบุว่า อีก 15 ปีข้างหน้า สายการบินทั่วโลกจะมีความต้องการนักบินถึง 500,000 คน จากการคำนวณเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้งที่รอการส่งมอบอีกกว่า 6,000 ลำ โดยหากทั่วโลกยังผลิตนักบินได้ในอัตราปัจจุบัน จะมีนักบินใหม่เกิดขึ้นเพียง 90,000-100,000 คน อาจส่งผลให้ไทยต้องเผชิญวิกฤตการขาดแคลนนักบินในอนาคตต

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น น้องๆ หลายคนที่มีความใฝ่ฝันและเห็นโอกาสในการทำงาน ก็ควรต้องมีการเตรียมทั้งร่ายกาย สติปัญญา ช่องทางการศึกษา และทุนทรัพย์ พร้อมรับความกดดันและท้าทายในอาชีพ “นักบิน” ได้ต่อไปในอนาคต
 

UploadImage



รู้จักอาชีพนักบิน คลิกที่นี่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยพีบีเอส