สอบเข้ามหาวิทยาลัย

พ่อแม่คิดอย่างไร กับเยาวชนไทย และเส้นทาง “นักกีฬาอาชีพ”


น้องๆ หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเรียนคาบพละทุกวัน การได้เล่นกีฬาที่ชอบมันสนุกและไม่เคยน่าเบื่อเลยจริงๆ ถ้าเกิดเรียนจบหรือระหว่างเรียนมีโอกาสได้พัฒนาฝึกฝนตัวเอง อนาคตต่อไปก็อยากจะเป็น "นักกีฬาอาชีพ" คงมีความสุขไม่น้อย

แต่ก็ติดที่พ่อแม่อาจไม่สนับสนุนและเป็นกังวลว่าอนาคตจะไปได้ดีได้ไกลซักแค่ไหน สามารถยึดเป็นอาชีพได้เหรอ? ถ้าเก่งจนติดทีมชาติได้ก็ดีไป แต่ระหว่าทางคงไม่ง่าย ใครจะสนับสนุน? แล้วหลังจากนั้นชีวิตจะมั่นคงแค่ไหน? พร้อมคำถามที่ตามมาอีกมากมาย แล้วน้องๆ คิดว่าจะตัดสินใจให้ชีวิตและอนาคตตัวเองยังไงต่อไปดีล่ะ?

UploadImage
แน่นอนว่าพื้นฐานความคิด ประสบการณ์ และความคาดหวังของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันถือว่า กำแพงความคิดด้านลบหลายอย่างของทั้งตัวน้องๆ และพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มสลายไปบ้างแล้ว เนื่องมาจากกระแสกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล รวมถึงแบดมินตันในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้น้องๆ หลายคนใฝ่ฝันมุ่งมั่นที่จะโตไปมีอาชีพเป็นนักกีฬากันมากขึ้น

จากผลการสำรวจของบริษัทจัดหางานอเด็คโก้ ประเทศไทย (Adecco Thailand) ระบุว่า อาชีพในฝันของเด็กไทยในปี 2558 ที่มาแรงไม่แพ้สาขาอาชีพหลักอย่างแพทย์ ตำรวจ ครู และวิศวกร ก็คืออาชีพ “นักกีฬา” จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันอาชีพนักกีฬาในประเทศไทย สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง และมีเกียรติได้รับการยอมรับจากสังคมไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่น ตัวอย่างเช่น นักฟุตบอล นักวอลเล่ย์บอล และแบดมินตัน ซึ่งมีลีกอาชีพภายในประเทศรองรับ และสามารถทำรายได้ปีละหลายล้านบาท

UploadImage
นอกจากนี้ กีฬาฟุตบอลไม่ใช่กีฬาชนิดเดียวที่น้องๆ สามารถยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยในปัจจุบัน ทางคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ได้มีการกำหนดชนิดประเภทกีฬาที่เป็นกีฬาอาชีพไว้ 13 ชนิดกีฬา ได้แก่  ฟุตบอล วอลเลย์บอล เทนนิส กอล์ฟ แบดมินตัน บาสเก็ตบอล เจ็ตสกี ตะกร้อ โบว์ลิ่ง  แข่งรถจักรยานยนต์ จักรยาน แข่งรถยนต์ และสนุกเกอร์

แม้สังคมหลายส่วนยังมองว่า กีฬาอาจเป็นแค่กิจกรรมที่เหมาะกับการออกกำลังกายหรือทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ปัจจุบันกีฬาสามารถพัฒนาเป็นอาชีพหรือต่อยอดไปยังอาชีพที่มั่นคงได้ หากน้องๆ แสดงให้ทุกคนเห็นถึงความมุ่งมั่น ฝึกฝนและฝึกซ้อมอย่างจริงจัง มีระเบียบวินัย มีความอดทนในการใช้ชีวิต เชื่อว่าน้องๆ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและการชี้แนะส่งเสริมจากโค้ชหรือครูในโรงเรียนให้เลือกทำตามสิ่งที่รักและใฝ่ฝันได้ และเมื่อนั้นเส้นทาง “นักกีฬาอาชีพ” จะไม่ใช่เรื่องยากที่เต็มไปด้วยอุปสรรค
และคำถามมากมายอีกต่อไป


ที่มาและภาพประกอบ:
กกท.จัดเสวนา กีฬาสู่อาชีพ
'นักกีฬา' อาชีพในฝัน (ที่เป็นจริง)
ครอบครัวและเยาวชนกับเส้นทางนักกีฬาอาชีพ (วอลเลย์บอล)
การจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ
พระราชพระราชบัญญัติ ส่งเสริมกีฬาอาชีพ