นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (คนกลาง) ในขณะดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยม โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี โดยมี ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (ที่ 2 จากขวา) ในฐานะผู้บริหารสูงสุดและคณะผู้บริหารโรงเรียนให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 (ภาพจากแฟนเพจ “ชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสัตยาไส”)
สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด หรือ “ครม.ประยุทธ์ 4” ต้องถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ กระทรวงศึกษาธิการ พอสมควร โดยก่อนหน้าที่จะมีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่นั้น มีชื่อ “หมอจูโด้” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ และ “บิ๊กน้อย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ แทนที่ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรี
ท้ายที่สุดเป็น นพ.ธีระเกียรติ คว้าตำแหน่งไปครอง รวมทั้งโยก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล จาก รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็น รมช.ศึกษาธิการ ด้วย
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า นพ.ธีระเกียรติ ทะยานขึ้นชั้นมาเป็นเจ้าของรหัส “เสมา 1” อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าทางด่วนมอร์เตอร์เวย์เสียอีก เพราะก่อนที่ “หมอจูโด้” จะได้เข้ารับตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ เมื่อเดือน ส.ค.58 ต้องถือว่า “โนเนม” เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก
พลิกดูประวัติการศึกษาของ นพ.ธีระเกียรติ พบกว่าไม่ธรรมดา โดยจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยผลการเรียนระดับหัวแถว แต่ถูกส่งไปใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น และต่อมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่างจาก “นิสิตแพทย์จุฬาฯหัวกะทิ” คนอื่นๆ ที่มักจะถึงดึงตัวให้ใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แต่ “หมอจูโด้” ถูกเตะโด่งไปไกลถึงขอนแก่น
จากนั้นเจ้าตัวได้ทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่อสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดย นพ.ธีระเกียรติ เคยระบุว่า ตัวเองเคยสอนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และยังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง “อาจารย์อาวุโส” แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนอันเก่าแก่เสียด้วย ทำเอาบรรดาศิษย์เก่าชาวไทยจาก ม.ดังแดนผู้ดี ต่างก็งุนงงว่าที่มหาวิทยาลัยลอนดอนมีตำแหน่งที่ว่าจริงๆหรือ และมีมาตั้งแต่เมื่อไร
ด้านผลงานด้านการศึกษาในประเทศไทยนั้น นพ.ธีระเกียรติ ได้ร่วมกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ก่อตั้ง โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี ขึ้นและเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อ พ.ศ.2535 รูปแบบเป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนพักค้างภายในโรงเรียน รับประทานอาหารมังสวิรัติของทางโรงเรียน ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน โดย นพ.ธีระเกียรติ มีชื่อเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี นั้น อยู่ภายใต้มูลนิธิสัตยาไส ซึ่งตั้งอยู่ใน 53 ประเทศทั่วโลก
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง “นพ.ธีระเกียรติ - ดร.อาจอง” นั้น นพ.ธีระเกียรติ เคยเปิดเผยว่า ได้ติดตามผลงานและติดตาม ดร.อาจอง ทั้งในแง่หลักคิดและการทานมังสาวิรัติ มาตั้งแต่สมัยที่เป็นนิสิตแพทย์ ซึ่ง ดร.อาจอง เคยไปบรรยายที่ชมรมจิตศึกษาที่จุฬาฯ จากนั้นได้ร่วมเดินทางไปประเทศอินเดียหลายครั้ง จนได้พบและศรัทธาแนวทางของ สัตยะ สาอี บาบา (Satya sai baba) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไส บาบา” ศาสดาทางจิตวิญญาณชื่อดัง (เสียชีวิตเมื่อปี 2554) อันเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ก็มี ศูนย์ศึกษาคำสอนสัตยาไส ที่ นพ.ธีรเกียรติ ก่อตั้งขึ้นโดยระบุที่ตั้งภายในศูนย์แพทย์ 7 มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย
ภาพ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี ในระหว่างการ ประชุมคณะการชมรมผู้ปกครองและประชุมผู้ปกครองวันเปิดภาคเรียน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559 ซึ่งจะสังเกตเห็นภาพและโต๊ะบูชา “ไส บาบา”ตั้งอยู่ด้านซ้ายของภาพ (ภาพจากแฟนเพจ “ชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสัตยาไส”)
“อาจารย์ผมอีกท่านคือท่านสัตยาไสที่อินเดีย ท่านบอกว่าเราควรใช้ชีวิตนี้ในการสอนเด็ก ท่านสัตยาไสเป็นนักบุญที่ประเทศอินเดียที่เราเคารพนับถือ เลยเอาชื่อท่านเป็นชื่อโรงเรียนเพราะว่ามีโรงเรียนที่ใช้ชื่อท่านทั่วโลกแล้ว” นพ.ธีระเกียรติ เคยกล่าวถึง ไส บาบา ไว้เช่นนี้
สำหรับ “ไส บาบา” นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะ ศาสดาทางจิตวิญญาณชื่อดังของโลก ซึ่งมีลูกศิษย์เป็นนักการเมือง ดารานักแสดง และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนมาก แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม ในด้านความชื่นชมก็กล่าวถึงผลงานด้านสาธารณกุศลในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ มูลนิธิสัตยาไสของ ไส บาบา ได้ตั้งกองทุนโครงการด้านสุขภาพและการศึกษา สร้างโรงพยาบาล และคลีนิกแพทย์หลายแห่งในอินเดีย
แต่อีกด้านก็ถูกวิจารณ์ในทางลบ เนื่องโรงพยาบาลและศูนย์แพทย์เหล่านั้น มีหลักความเชื่อว่า สามารถรักษาโรคได้เหนือกว่ายาแผนปัจจุบัน จาก “อำนาจเหนือธรรมชาติ” รวมทั้งมีการกล่าวกันว่า ไส บาบา มีความสามารถที่จะเสกวัตถุจากอากาศ เช่น เสกนาฬิกาโรเล็กซ์ให้แก่นักธุรกิจนำไปใช้ประจำตัว แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาก็อาจได้เพียงก้อนดินไปบูชา เป็นต้น นอกจากนั้นยังอ้างว่ามีความสามารถรักษาโรคร้ายขั้นรุนแรง และสามารถระลึกชาติได้ จนทำให้มีผู้ศรัทธาอย่างมากมาย
จนหลายครั้งมีตีแผ่จับเท็จพฤติกรรมของ ไส บาบา โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีการพิสูจน์ว่าอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติที่ว่าเป็นเพียง “การเล่นมายากล” ครั้งหนึ่งเคยถูกตั้งกล้องจับความเร็วสูงดูพิธีปลุกเสกของจากอากาศของ ไส บาบา ก่อนไปเปิดโปงผ่านดิสคัฟเวอรี่แชนแนล สื่อชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นเพียงมายากลเช่นกัน
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ ซึ่งเป็น รมช.ศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม โรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี โดยมี ดร.อาจอง ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนให้การต้อนรับ
ในวันนั้น นพ.ธีระเกียรติ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “โรงเรียนสัตยาไสเปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลา 24 ปีแล้ว โดยมุ่งสอนให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม และสร้างคนดีที่มีความรู้โดยสมบูรณ์ ตามแนวทางของท่านสัตยาไสที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีแนวคิดว่าการศึกษานั้นซื้อขายไม่ได้ และไม่ให้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดการจ้างสอน เด็กที่โรงเรียนสัตยาไส จึงเรียนฟรีและเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะของใช้ส่วนตัวในโรงเรียนเท่านั้น” พร้อมทั้ง นพ.ธีระเกียรติ ได้กล่าวสรุปในครั้งนั้นโรงเรียนสัตยาไสจะไม่ใช่โรงเรียนทางเลือกอีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็นโรงเรียนทางตรง ทั้งนี้ นักเรียนในโรงเรียนสัตยาไสมี “กิจวัตรประจำวัน” ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น นอกเวลาเรียนยังต้องแต่งกายสีแสดตามสีเครื่องนุ่งห่มของไสบาบา และต้องนั่งสมาธิและบริกรรมตามวิธีของไสบาบา อีกทั้งว่ากันว่าเวลานอนต้องมี “พีระมิด” ติดตั้งไว้ใต้เตียงด้วย
ทั้งนี้ นพ.ธีรเกียรติ เคยมีผลงานด้านงานเขียนหลายเล่ม โดยมีชื่อเป็นผู้ถอดความหนังสือเรื่อง “ชีวประวัติและคำสอนขององค์ภควัน ศรี สัตยา ไส บาบา ภาค 1” เป็นภาษาไทย โดยในเล่มยังมี ดร.อาจอง เป็นผู้เขียนคำนำด้วย รวมทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การฝึกสมาธิ โดยการใช้แสงสว่างตามแนวทางของสัตยาไสบาบา” ซึ่งปรากฎให้ดาวน์โหลดอยู่ในเว็บไซต์ “บ้านสวนพีระมิด” ของ นางอุบล ศุภาเดชาภรณ์ ผู้ที่เคยถูกเปิดโปงว่ามีพฤติกรรมหลอกลวงจนผู้อื่นหลงเชื่อและได้รับความเสียหาย จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับดำเนินคดีเป็นคดีพิเศษเมื่อช่วงปี 2557
เมื่อปี 2553 ดร.อาจอง ก็เคยไปบรรยายเรื่องพลังพีระมิดที่บ้านสวนพีระมิดมาแล้ว ปัจจุบันยังมีคลิปวิดีโอที่สามารถรับชมได้ทางสังคมออนไลน์ โดย ดร.อาจอง ระบุในการบรรยายตอนหนึ่งว่า “...ให้เด็กนอนเหนือพีระมิด มันก็ดูดพลังเข้าไป แต่แน่นอนถ้าเราสร้างพีระมิดใหญ่ๆ ให้เข้านอนในพีระมิดเลยก็ยิ่งดีใหญ่ ก็จะยิ่งมีพลังมากกว่าเยอะ แต่นี่เราไปวางไว้ใต้เตียง ก็ปรากฎว่า เด็กก็จะหลับได้ง่ายขึ้น หลับสนิทขึ้น ดีขึ้น...”
บทสัมภาษณ์ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ในเวบไซต์มูลนิธิครอบครัวพิเพียง (http://www.fosef.org) ระบุถึงความสัมพันธ์กับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และความศรัทธาที่มีต่อ “ไส บาบา” ศาสดาทางจิตวิญญาณชาวอินเดียชื่อดัง
สอดคล้องกับรายงานข่าวว่าเด็กนักเรียนโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี ถูกบังคับให้วางวัตถุรูปทรงพีระมิดไว้ใต้เตียงนอนทุกคน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค.57 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การกำกับของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายสังคมจิตวิทยา (ก่อนที่ พล.ร.อ.ณรงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ ช่วงปลายเดือน ส.ค.57) ซึ่งขณะนั้น นพ.ธีรเกียรติ ได้เป็นทีมงานของ พล.ร.อ.ณรงค์ด้วย (ก่อนที่ นพ.ธีรเกียรติ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำประทรวงศึกษาธิการในเดือน ต.ค.57) เคยแต่งตั้ง ดร.อาจอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หรือที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการรื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในวงกว้างเนื่องจากมองว่า ดร.อาจอง ที่แม้ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่กลับสนับสนุนแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น พลังลึกลับของพีระมิด หรือการมีอยู่และการติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว รวมทั้งยังอ้างว่าเคยพบเห็นจานบินยูเอฟโอหลาย 10 ครั้ง ตลอดจนการอ้างว่า เป็นผู้คิดค้นระบบลงจอดของยานอวกาศไวกิ้งให้แก่นาซ่าจากการนั่งสมาธิติดต่อขอข้อมูลจากมนุษย์ต่างดาว ทั้งที่บริษัทเอกชนที่ ดร.อาจอง ทำงานอยู่นั้นเป็นเพียงผู้รับงานผลิตชิ้นส่วนหนึ่งของยานอวกาศเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นระบบลงจอดตามที่กล่าวอ้าง
ดร.อาจองยังเคยบรรยายให้นิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟังอีกด้วยว่า ตนนั้นสำเร็จปริญญาเอกได้ง่ายมาก เพราะมีมนุษย์ต่างดาวคอยติดต่อมาช่วยในการทำวิจัยจนสำเร็จ รวมทั้งได้เคยชักชวนนิสิตให้ร่วมไปปีนขึ้นยอดเขาสูงในวันหยุดเพื่อที่จะไปรับพลังจากมนุษย์ต่างดาว
“จารย์เจษ” เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมรณรงค์ให้มีการทบทวนการแต่งตั้ง ดร.อาจอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของ กพฐ. เมื่อปี 2557 เคยระบุว่า ดร.อาจอง เป็นผู้ที่มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่เหมาะสมในการเข้ามาทำงานในตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของ กพฐ.
ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านให้การสนับสนุนแนวคิดและความเชื่อในสิ่งที่จูงใจให้ประชาชนงมงายกับสิ่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience)”
แหล่งข่าวในวงการศึกษาของประเทศไทย ได้แสดงความเป็นห่วงถึงการที่ นพ.ธีระเกียรติได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ ทั้งที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัว ไส บาบา ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องจิตวิญญาณมากกว่างานด้านวิชาการ รวมทั้งความใกล้ชิดกับ ดร.อาจอง ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และแนวการสอนของโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี อาจส่งผลให้ นพ.ธีระเกียรติ เข้ามาปรับปรุงแนวทางการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นไปในแนวทางความเชื่อส่วนตัวของ นพ.ธีระเกียรติเอง บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งระดับอุดมศึกษาและโรงเรียนที่เสวนากันสังคมออนไลน์ต่างแสดงความวิตกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าโดยปกติแล้วบุคคลที่เชื่อมั่นในลัทธิทั้งหลาย มักจะมีความอดทนมุ่งมั่นเพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางในการนำ “ลัทธิความเชื่อ” ของตนเองเข้าไปครอบครองสังคมให้จงได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่พบได้เป็นปกติอยู่แล้วในการเผยแพร่ลัทธิทั้งหลาย
ยิ่งผู้ที่เชื่อมั่นในลัทธิสามารถแทรกแซงขึ้นไปได้ในระดับสูงเท่าไรก็ยิ่งจะเป็นอันตรายต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ดังมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์อยู่มากมาย เช่น การแทรกแซงเข้าสู่สังคมระดับสูงในรัสเซียของนักบวช รัสปูติน เป็นต้น
จึงไม่แปลกที่การแบ่งงานของกระทรวงศึกษาธิการล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ จะใช้สิทธิ์ความเป็นรัฐมนตรีว่าการ ยึดเอา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาดูแลเอง ทั้งที่เดิมหน่วยงานแห่งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผู้กำกับดูแลมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการ “ผิดมารยาท” และ “ผิดปกติ” พอสมควร
เหตุใด “หมอธีระเกียรติ” ศิษย์เอก “ดร.อาจอง ณ นาซ่า” ถึงสนอกสนใจอยากดูแล สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกรอบเนื้อหาสาระ และปรับปรุงหลักสูตรของประเทศ จะเป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายจับตามองในการนำพาการศึกษาไทยไปสู่สไตล์ “ไส บาบา” หรือไม่??
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : MGR ออนไลน์