สอบเข้ามหาวิทยาลัย

กรมการแพทย์เจ๋งผลิต ‘ลูกตาปลอม’ เฉพาะบุคคล เร่งหารือ สปสช.บรรจุเข้าสิทธิประโยชน์

UploadImage
 

       เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่กรมการแพทย์ นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นในส่วนของกรมการแพทย์จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ขึ้นมาเพื่อเสริมศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยแบบพึ่งพาตาเองได้ เบื้องต้นมี 2 โครงการที่ประสบความสำเร็จคือ การผลิตดวงตาปลอมเฉพาะบุคคล และกำลังจะจัดโครงการใส่ “ตาปลอม 999 ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ฟรีแก่ผู้ยากไร้ที่ถูกควักลูกตาออก นอกจากนี้ในส่วนของรพ.ราชวิถียังได้มีการพัฒนานาฬิกาอัจฉะริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน จะได้หาทางแก้ไขได้ทัน เพราะภาวะน้ำตาลต่ำนั้นทำให้เกิดปัญหาช็อค และเสียชีวิตตามมาได้

       นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ที่ต้องถูกควักลูกตาออก 200-300 ราย เพราะอุบัติเหตุจากการทำงาน อุบัติเหตุจราจร การติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งการสูญเสียดวงตาไป 1 ข้างนั้นมีผลต่อจิตใจ สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ล่าสุดทางรพ.เมตตาประชารักษ์จึงได้พัฒนาลูกตาปลอมขึ้นมาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยทำลูกบอลชนิดพรุนเพื่อใส่เข้าไปในเบาตาหลังถูกควักออกไปแล้ว ทั้งนี้ที่ต้องทำให้เป็นชนิดพรุนเพื่อให้เส้นเลือดขยายและเติบโตเข้าข้างในได้ สามารถเคลื่อนตัวได้ จากนั้นจึงทำตัวครอบลูกตาที่สามารถเคลื่อนไหวเมื่อกรอกลูกตาไปมาได้ เสมือนกับของจริง มีความวาวใส ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน ทั้งนี้หากเป็นการนำเข้ามาราคาจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่ที่รพ.ผลิตนั้นราคาอยู่ที่ 2,000 บาท ส่วนตัวครอบของต่างประเทศอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท ของไทยอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท จากนี้จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาต่อไป สำหรับโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งวันที่ 1 มกราคม 2560- 30 มกราคม 2565 สอบถามโทร 0-3438-8712-4 ต่อ 3129 ทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เวลาราชการ

       ด้าน ผศ.นพ.สถิตย์ นิรมิตมหาปัญญา นพ.ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า การพัฒนานาฬิกาข้อมือ มีเซนเซอร์ 3 ส่วนวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย และความชื้นในร่างกาย แล้วประมวลผลภาวะน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานหากอยู่ในระดับวิกฤตสีแดงจะส่งไปยังข้อมูลไปยังพยาบาลให้เข้ามาดูแล อนาคตหากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ตามท้องถนนก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนไปยังญาติหรืออาจจะพ่วงแอพพลิเคชั่นเรียกรถพยาบาลของกรมการแพทย์ได้

ขอขอบคุณที่มา :  มติชนออนไลน์