สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เวียดนามคว้าอันดับ 8 ส่วนเด็กไทยอันดับ 55 ในการสอบ PISA ข้อสอบวัดเด็กทั่วโลก

สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งทุกวิชา ในการประเมินผลทักษะการเรียนรู้นักเรียนนานาชาติครั้งล่าสุด ขณะที่เด็กไทยน่าเป็นห่วง ทำคะแนนได้น้อยลงทุกวิชา

วันนี้ (6 ธ.ค. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ประกาศผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ประจำปี 2015  โดยสิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนสูงสุดทั้งสามวิชาที่ทดสอบ ได้แก่ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามมาด้วย ญี่ปุ่น เอสโตเนีย ไต้หวัน และฟินแลนด์
 
UploadImage

UploadImage
UploadImage
 

มีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 72 ประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นการทดสอบวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ขวบ ที่สุ่มตัวอย่างมา 540,000 คน   ใน 70 ประเทศ ดำเนินการทดสอบโดย OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) เพื่อประเมินคุณภาพ ความเท่าเทียม และประสิทธิภาพของระบบโรงเรียนในแต่ละประเทศ ซึ่งจะสะท้อนว่าคุณภาพของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคตเป็นอย่างไร

อันเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการด้านการศึกษาของ OECD ระบุว่า สิงคโปร์ ไม่เพียงแต่ทำผลงานได้ดีเท่านั้น แต่กำลังทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ออกไปเรื่อยๆ อีกด้วย  

และที่น่าสนใจคือเวียดนามกระโดดขึ้นชั้นระดับโลกเป็นที่ 8 ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 55  โดยผลการทดสอบลดลงในทุกวิชา

 
UploadImage

ศาสตราจารย์ ลี ซิง กง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งในด้านการศึกษา คือ มาตรฐานการสอน ซึ่งสิงคโปร์ลงทุนกับการสร้างบุคลากรครูคุณภาพอย่างมาก โดยจะคัดเลือกจากผู้ที่จบการศึกษาด้วยผลการเรียนที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันครูทุกคนจะต้องผ่านการอบรมจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้วย

ในส่วนของประเทศไทย คะแนนวิชาการอ่านอยู่ที่อันดับ 57 ขณะที่คะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 54 ทั้งคู่ โดยถือว่าอันดับและคะแนนลดลงจากการทดสอบครั้งก่อนเมื่อปี 2012 ในทุกวิชา

นอกจากผลการจัดอันดับแล้ว รายงานของ PISA ได้ตั้งข้อสังเกตว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลการประเมินวิชาวิทยาศาสตร์มีพัฒนาการน้อยมาก โดยมีเพียง 12 ประเทศจาก 70 ประเทศ ที่มีคะแนนวิทยาศาสตร์ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างคะแนนระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิงในส่วนของวิชาวิทยาศาสตร์นั้นลดลง แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วนักเรียนชายจะยังคงทำคะแนนได้ดีกว่า

ในส่วนของฐานะทางเศรษฐกิจ นักเรียนที่มีฐานะยากจนมีแนวโน้มทำคะแนนสอบได้น้อยกว่านักเรียนที่มีฐานะดี 3 เท่า อย่างไรก็ตาม นักเรียนจากเอเชียส่วนใหญ่แม้จะมาจากครอบครัวที่ฐานะต่างกัน แต่ก็ทำคะแนนสอบไม่หนีกันมาก
 
UploadImage


ทั้งนี้ รายงานการประเมินของ PISA แนะนำว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและการไหลเวียนของข้อมูลอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำเป็นต้องมีทักษะในการคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์  โดยรู้จักชั่งน้ำหนักหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุป ขณะที่การค้นพบและความเข้าใจต่างๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ   

ส่วนประเทศที่ทำผลงานได้ดีในการประเมิน นโยบายที่มีประเทศเหล่านี้มีคล้ายๆ กัน คือ การสร้างมาตรฐานที่สูงและทั่วถึง เน้นพัฒนาคุณภาพการสอน ส่งเสริมโรงเรียนและนักเรียนที่มีปัญหา และวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 
 
 
 
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ PISA Thailand ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลกว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการลงทุนทางการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จ โดยความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก ล้วนเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ
ครูเวียดนามต้องทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมทางระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น ผลรวมของความขยันของนักเรียนและครูจึงลงตัว

นักเรียนเวียดนามนั้นมีความขยันเรียน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต เด็กเวียดนามเรียนหนังสือหนักมากภายใต้วัฒนธรรมที่มีความขยัน โดยนักเรียนเวียดนามมีวินัยสูงกว่านักเรียนไทย

ข้อมูลในเว็บไซต์ของ สสวท.ระบุด้วยว่าพ่อแม่เวียดนามนั้น แม้จะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่กลับมีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษาของลูกหลาน และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษา ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน เป็นต้น
รายงานยังระบุด้วยว่า แม้เวียดนามจะมีเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำอื่น ๆ แต่เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าจีดีพี แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่สูงมาก แต่การศึกษาของเวียดนามก็ประสบความสำเร็จสูงกว่า
ในส่วนของไทยนั้น รายงานผลการประเมิน PISA เมื่อปี 2555 ของ สสวท. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ระบุว่า การศึกษาของไทยมีบางส่วนที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ นั่นคือ ระบบโรงเรียนในกรุงเทพฯ มีการกระจายของคะแนน PISA เกือบจะไม่ต่างจากนักเรียนในสหรัฐ ฯ ขณะที่นักเรียนที่อื่น ๆ นอกกรุงเทพฯ ยังมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่ามาก ดังนั้นถ้าระบบโรงเรียนไทยสามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพทั่วถึงทั้งประเทศ คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะสามารถยกระดับสูงขึ้นได้

รายงานระบุด้วยว่า ในระบบโรงเรียนของไทย เมื่อพบว่าคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปตามที่หวังก็มักจะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดยเน้นเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ และเปลี่ยนหนังสือเรียน โดยองค์ประกอบอื่น ๆ ยังคงเดิม ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มิใช่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าจากการทดสอบ PISA 2546 และ 2549 ซึ่งเป็นช่วงหลังการปฏิรูปการศึกษาคะแนนตกลงอย่างน่าตกใจ และมีแนวโน้มตกลงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มคงที่ หรือเริ่มกระเตื้องขึ้นในอีกสามปีต่อมา (PISA 2552) และแนวโน้มเริ่มดีขึ้นชัดเจนใน ค.ศ. 2555 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าต้องใช้เวลามากกว่าสิบปี ระบบจึงสามารถปรับตัวเข้าสู่เส้นทางปกติได้


ตัวอย่างข้อสอบเป็นแบบหลายตัวเลือก ได้รับการแปลเป็นภาษานั้นๆ (เช่นคนไทยก็ทำข้อสอบภาษาไทย ดังนั้นทักษะเรื่องภาษาจะไม่เกี่ยว) ในด้านวิทยาศาสตร์ถามเรื่องอย่างเช่น "การอพยพของนก" ว่า "นกอพยพส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันอยู่บริเวณหนึ่ง แล้วจึงอพยพเป็นกลุ่มใหญ่มากกว่าที่จะไปเพียงตัวเอง พฤติกรรมนี้เป็นผลจากวิวัฒนาการ คำอธิบายใดต่อไปนี้ใช้อธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ดีที่สุดในเชิงวิวัฒนาการ" นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่อง "การประมงแบบยั่งยืน" และ "การตกลงสู่ผืนโลกของอุกกาบาต" (นี่เป็นคำถามปีนี้)
 
 ส่วนคำถามคณิตศาสตร์มีตัวอย่างปี 2012 ซึ่งถามถึง "การจัดการหน่วยความจำในเมมโมรี่สติ๊ก 1 กิ๊กกะไบต์" ว่าหากปัจจุบันมีโฟลเดอร์ไซส์ต่างๆ กัน หากลบโฟลเดอร์ใดจะทำให้มีพื้นที่พอสำหรับการวางไฟล์เพิ่ม 350 เมกกะไบต์ และหากได้เมมโมรี่สติ๊กใหม่ความจุ 2 กิ๊กกะไบต์ และถ่ายโอนไฟล์ทั้งหมดลงไป กราฟวงกลมใดจะแสดงถึงหน่วยความจำในเมมโมรี่สติ๊กอันใหม่ได้ดีที่สุด

 

ตัวอย่างข้อสอบ

https://www.oecd.org/pisa/test/

ความคิดเห็นจาก  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ศาสตราภิชาน
 


UploadImage


ที่น่าสนใจ คือ เวียดนามกระโดดขึ้นชั้นระดับโลกเป็นที่ 8

ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน ที่ 57 คณิตศาสตร์ ที่ 54) โดยมีผลการทดสอบลดลงจากการสอบครั้งที่แล้ว (ปี 2012) ในทุกวิชา ได้แก่ 
##วิทยาศาสตร์ ได้ 422 คะแนน (ลดลง 23 คะแนน จากเดิม 444 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493) 
##การอ่าน ได้ 409 คะแนน (ลดลง 32 คะแนน จากเดิม 441 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493) 
##คณิตศาสตร์ ได้ 415 คะแนน (ลดลง 12 คะแนน จากเดิม 427 *คะแนนเฉลี่ย OECD 490)

ตั้งแต่มีการสอบ PISA มา คะแนนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นนี้มาตลอด สำหรับประเทศอื่นๆ ได้ใช้ผล PISA ไปเป็นประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ แต่ในส่วนของประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีตัวบ่งชี้นานาชาติที่สะท้อนความอ่อนแอให้เห็นอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม


ผลการสอบ PISA 2015 จะสอดคล้องกับผลการสอบ TIMSS ซึ่งเป็นการวัดความสามารถวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีนักเรียนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม เข้าสอบจำนวน 6 แสนคน ซึ่งปรากฏว่าคะแนนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งทัายเช่นเดียวกัน ทั้งยังสอดคล้องกับผลการวัดผลที่เราจัดสอบเอง เช่น ผลการสอบ ONET จึงเป็นการบ่งชี้อีกครั้งหนึ่งว่า ระบบการศึกษาของเรายังมีความอ่อนแออยู่มาก 

ข้อเท็จจริงที่ว่าในการสอบ PISA ทุกครั้งที่ผ่านมาคะแนนของประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นผลในปีนี้ยังกลับลดลงจากครั้งที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาของเราไม่ได้มีพัฒนาการขึ้นมาแต่อย่างใด

ถ้าจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าคะแนนของเราทำไมจึงต่ำ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าน่าจะมีสาเหตุโดยตรงอยู่สองประเด็นใหญ่ๆ คือความรู้ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของเราน่าจะต่ำกว่ามาตรฐานโลก และวิธีการคิดของเด็กเราไม่สามารถคิดในเชิงวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ เพราะข้อสอบ PISA จะเป็นไปในแนวเช่นนั้น ซึ่งประเด็นนี้จะต่อเนื่องไปถึงวิธีการเรียนการสอนของครูด้วย ดังนั้นจึงควรต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึงเนื้อหาและวิธีการจัดการศึกษา และจะต้องต่อเนื่องไปถึงการรื้อระบบการผลิตครูด้วย

การที่เวียดนามมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงระดับเทียบวัดกับประเทศชั้นนำได้ และได้คะแนนสูงเช่นนี้มาสองครั้งติดกันแล้ว เป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตาม และจากการที่เวียดนามเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยที่ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ข้อมูลด้านการศึกษาเช่นนี้น่าจะต้องนำมาซึ่งความน่าวิตกสำหรับไทยด้วย เพราะข้อมูลเช่นนี้จะถูกนำไปวิเคราะห์ต่อไปในการวางแผนทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ โดยที่ข้อมูลทางด้านการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในสายตาผู้ลงทุนจากต่างประเทศก็จะมองเห็นความเข้มแข็งและความอ่อนแอทางด้านนี้จากผลของการศึกษา วันนี้เวียดนามได้บอกแก่ชาวโลกว่ามีฐานของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของโลก ดังนั้น อาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจอีกต่อไปว่าทำไมในข่วงเวลาที่ผ่านมาเราจึงเห็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหลายอย่างเริ่มย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปเวียดนาม

ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องทำการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการมองปัญหาให้ออกและชัดเจน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขให้ถูกต้อง เท่าที่ผ่านมาแม้จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การสั่งลดเวลาเรียนโดยไม่ได้ไปปรับปรุงที่โครงสร้างของระบบการเรียนการสอนซึ่งมีหลักสูตรเป็นแกนหลัก นอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลต่อระบบการเรียนรู้ในทางบวกแล้วยังกลับสร้างความเครียดและความสับสนขึ้นในระบบการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ืนอกไปจากการปฏิรูปหลักสูตรและองค์ความรู้ในระบบ และการปฏิรูปครูอย่างจริงจัง แล้ว ยังจะเห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น โครงสร้างของระบบริหารจัดการที่ไม่เอื้อให้เกิดความเข้มแข็งของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะความเข้มแข็งของระบบการศึกษาที่แท้จริงจะต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียน นี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาเท่านั้น

ความคิดเห็นจากศาสตราจารย์ ดร. เพทาย เย็นจิตโสมนัส
 

UploadImage


"การเน้นให้เด็กท่องจำและสอบวัดผลความจำมากเกินไป เป็นการทำลายศักยภาพและทักษะในด้านความคิดของเด็ก ทั้งความคิดในเชิงวิเคราะห์ เชิงสังเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยตกต่ำและย่ำแย่มาโดยตลอด"

ผลการสอบ Programme for International Student Assessment (PISA) ปี 2015 ซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ปรากฏว่าเด็กสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 เด็กเวียดนามอยู่อันดับที่ 8 เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 จากจำนวน 71 ประเทศ เป็นหลักฐานชี้ชัดให้เห็นคุณภาพที่ต่ำของระบบการศึกษาไทย และมีผลที่ต่ำลงกว่าเดิมนับตั้งแต่ปี 2000 โดยปี 2012 ขยับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ปี 2015 ก็ต่ำลงอีก

หากเราไม่ปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ซึ่งคงจะต้องทำหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของครู การกระจายทรัพยากรทางการศึกษาไปสู่ชนบทให้มากขึ้น การปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียนและการบริหารจัดการโรงเรียน ฯลฯ คุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก

แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนแปลงลงไปให้ถึง คือ วิธีการเรียนการสอนที่เรายังเน้นกันแต่ให้เด็กท่องจำความรู้ และวัดผลกันแต่ความจำ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดพลาดมานาน การเน้นให้เด็กท่องจำและสอบวัดผลความจำมากเกินไป เป็นการทำลายศักยภาพและทักษะในด้านความคิดของเด็ก ทั้งความคิดในเชิงวิเคราะห์ เชิงสังเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยตกต่ำและย่ำแย่มาโดยตลอด ถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้ เราจะแพ้ทุกๆ ชาติในอาเซียนหมด และเราคงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นการศึกษาไทย 4.0 มหาวิทยาลัยไทย 4.0 คนไทย 4.0 และประเทศไทย 4.0 ได้ อย่างแน่นอน

แม้จะต้องปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่เรื่องแรกที่ควรจะแก้ปัญหา คือ การสอนและพัฒนาเด็กไทยให้สามารถใช้ภาษาไทยได้ดี ทำให้เด็กไทยสามารถอ่านภาษาไทยและเขียนภาษาไทยให้ได้ดี การสอบ PISA เขาสอบเป็นภาษาไทย คะแนนผลการสอบด้านการอ่าน (ภาษาไทย) ของเด็กไทย แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยทำคะแนนได้น้อย ในขณะที่เด็กทั่วโลกเขาสอบอ่านภาษาของตัวเองได้คะแนน PISA โดยเฉลี่ยเท่ากับ 493 คะแนน แต่เด็กไทยได้คะแนนสอบอ่านภาษาไทยในการสอบ PISA เท่ากับ 409 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไป 84 คะแนน ในขณะที่เด็กสิงคโปร์ได้ 535 คะแนน (คงจะใชัภาษาทางการของตัวเอง ภาษาใดภาษาหนึ่ง คือ อังกฤษ จีน มาเลย์ หรือทมิฬ แล้วแต่โรงเรียนสอนด้วยภาษาอะไร)

หากเด็กไทยไม่สามารถจะอ่านภาษาไทยได้รู้เรื่องและเข้าใจได้ดี ไม่สามารถจะทำความเข้าใจและตีโจทย์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้แตก จะสามารถตอบคำถามได้ถูกและทำคะแนน PISA ซึ่งถามเป็นภาษาไทยได้อย่างไร ดังนั้นหากแก้ปัญหาเรื่องการอ่านและการเขียนภาษาไทยของเด็กไทยได้ คะแนนผลการสอบด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในการสอบ PISA รวมทั้งคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยในด้านอื่นๆ โดยรวม ก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

ผมแนะนำให้รีบเร่งพัฒนาด้านภาษาไทยให้กับเด็กไทย แต่อย่าเข้าใจผิดว่าจะให้เด็กไทยไปท่องไวยากรณ์ไทยและฉันทลักษณ์ แล้วก็สอบวัดความจำเด็กไทยอีกนะครับ ถ้าทำอย่างนี้ คะแนนสอบ PISA เด็กไทยจะตกลงไปอีก การจะให้เด็กไทยเรียนและจะสอบวัดผลอย่างไร คนในกระทรวงศึกษาธิการไทย ควรจะรู้ดีกว่าผม แต่ถ้าไม่รู้ ผมก็ขอแนะนำให้ไปเอาข้อสอบ PISA มาศึกษาดู

แต่อย่าเข้าใจผิดอีกนะครับ ว่าผมจะให้ไปสอนเด็กไทยมาหัดทำข้อสอบ PISA กัน เหมือนเรียนกวดวิชา ผมหมายถึงให้ช่วยกันสอนเด็กไทยให้ฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทย ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิ์ ทำให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือ เข้าใจหลักเกณฑ์และเหตุผลของภาษา ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง อย่างมีตรรกะและเหตุผล ทั้งในการคิด ฟัง พูด อ่าน และเขียน การอ่านจับใจความ จับประเด็นและสาระสำคัญได้ พูดให้สั้นกระชับได้ใจความ สามารถจะเรียงลำดับขั้นตอนของเรื่องในการพูดและการเขียนได้ สามารถจะคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์จากการฟังและอ่าน ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการพูดและเขียนด้วยได้ ความสามารถทางด้านภาษาไทยเหล่านี้ จะต้องนำมาจัดเป็นลำดับและกระบวนการเรียน การสอน และการวัดผล ให้เหมาะสมกับวัยของเด็กในแต่ละชั้นเรียนด้วย

ถ้าหากไม่สามารถจะปฏิรูปการศึกษาให้เด็กไทย ฟัง พูด อ่าน และเขียน ภาษาไทยให้ดีและมีประสิทธิภาพได้ การปฏิรูปอย่างอื่นๆ ที่ยากลำบาก สลับซับซ้อน และลึกซึ้งกว่านี้ ประเทศไทยจะกระทำได้สำเร็จหรือครับ

เมื่อพูดถึงการเรียนแบบท่องจำ คนก็มักจะตีความแบบเกินเลยไปว่า คนที่พูดถึงเรื่องนี้ จะปฏิเสธไม่ให้จำอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่ ความจำจะต้องมีและใช้อยู่แล้วในการเรียนรู้ และคนที่มีความจำดีและมีความคิดรวดเร็วว่องไว ยิ่งจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ การท่องจำสูตรคูณ อาขยาน โคลงฉันท์ กาพย์กลอน บทกวีนิพนธ์ โน๊ตดนตรี ฯลฯ ยังจำเป็นต้องมี แต่เป็นคนละอย่างกับการเรียนแบบท่องจำไปทุกเรื่องทุกอย่าง อย่างที่เป็นอยู่ในระบบการศึกษาของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดว่า ถ้าท่องจำเพื่อทำข้อสอบและสอบผ่านแล้ว คือการได้รับการศึกษา จึงให้ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร ไม่ได้เข้าใจให้ถูกต้องว่าการศึกษาคือการพัฒนาชีวิตมนุษย์และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการเรียนรู้ต่อไป ในการดำเนินชีวิตและในการทำงาน เพื่อประกอบสัมมาอาชีพและการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม การเน้นย้ำแต่ท่องจำเพื่อทำข้อสอบให้สอบผ่าน แล้วถือว่าได้รับการศึกษา เป็นการสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน และสังคม การท่องจำที่มากเกินไปจะทำลายความคิด การใช้เหตุผล ทำให้เด็กคิดไม่เป็นและทำไม่เป็น เพราะได้แต่จำโดยไม่เข้าใจ ไม่ได้ฝึกทักษะที่จำเป็น เป็นอุปสรรคและปัญหาในการศึกษาเรียนรู้ต่อไป และในการสร้างทักษะของศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  pptvthailand , www.oecd.org , www.bbc.com/thai , The MATTER , Pavich Tongroach Facebook , gotoknow