สอบเข้ามหาวิทยาลัย

งานวิจัย Stanford : นักเรียน-นักศึกษาแยกไม่ออกว่าอันไหนข่าวจริง-ข่าวปลอม

UploadImage


ตอนนี้ปัญหาข่าวปลอมกำลังถูกจับตามองอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีคนมองว่า ข่าวปลอมที่แพร่หลายอย่างหนักในกลุ่มคนคลั่งการเมืองส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ผ่านมาหยกๆ 

 

แต่ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นปัญหา คือเรื่องของ "native advertising" หรือการโฆษณาแฝงในงานข่าว ซึ่งผู้ผลิตชิ้นงาน (ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อที่ทำข่าวทั่วไปนั่นแหละ) ได้รับการว่าจ้างให้ทำขึ้น แล้วงานพวกนี้ก็ถูกปะปนกับงานข่าวทั่วไป

 

เรื่องนี้ Stanford ได้ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,800 คน ซึ่งเป็นนักเรียน-นักศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมไปจนถึงอุดมศึกษา และพบว่า 

 

ในคำถามนึงมีนักเรียนระดับมัธยมจำนวนหลายคนรู้สึกว่างานเขียนเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินที่เขียนขึ้นโดยผู้บริหารธนาคารและได้รับการสนับสนุนจากทางธนาคาร ไม่ได้มีปัญหาที่จะต้องตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือหรือความซื่อตรงของชิ้นงาน

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างดูเว็บไซต์ข่าวแล้วบอกว่าส่วนไหนเป็นข่าวส่วนไหนเป็นโฆษณา ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาไม่มีปัญหาในการแยกป้ายโฆษณากับงานข่าว 

 

แต่ถ้าเป็นงานลักษณะโฆษณาแฝง ซึ่งก็มีป้ายแปะบอกอยู่ทนโท่ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% คิดว่างานพวกนี้เป็นข่าวจริงๆ

 

ที่น่ากังวลกว่านั้นก็คือ นักเรียนมัธยมปลายจำนวนมากให้ความเชื่อถือกับข่าวบนเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้พิจารณาถึงตัวตน หรือคุณสมบัติของผู้โพสต์เลย 

 

อย่างบางคนเชื่อข่าวจากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวปลอมที่ทำเลียนแบบสำนักข่าวจริง มากกว่าสำนักข่าวต้นฉบับ เพียงเพราะสำนักข่าวปลอมใช้รูปสวยกว่า

 

และแม้แต่ในระดับอุดมศึกษาก็ยังมีปัญหาที่คนไม่น้อยพากันให้ความน่าเชื่อถือกับเรื่องของเปลือกมากกว่าแก่น 

 

โดยนักวิจัยพบว่า "การออกแบบหน้าตาเว็บ ความสัมพันธ์ของตัวเว็บกับสำนักข่าวดั้งเดิม และบทบรรยาย "เกี่ยวกับเรา" ที่เขียนดีๆ จะได้รับความเชื่อถือจากนักศึกษา โดยที่พวกเขามิได้พิจารณาถึงเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนเว็บสักเท่าใดนัก"

ขอขอบคุณข้อมูล : The MATTER